ไทยตั้งเป้าส่งออกวัคซีนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ไทยตั้งเป้าส่งออกวัคซีนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ไทยผลิต 4 วัคซีนจากโรคที่ป้องกันได้มาตรฐานโลก ลดการนำเข้า รองรับการใช้งานภายในประเทศ และส่งออก 15 ประเทศทั่วโลก สู่ศูนย์กลางส่งออกวัคซีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว ก้าวสู่ทศวรรษ ของโรงงานผลิตวัคซีนมาตรฐานระดับโลกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ บริษัท องค์การเภสัชกรรม - เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP) ว่า วัคซีนมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันหรือลดโรคจากการฉีดวัคซีน ซึ่งมีกว่า 30 โรค ในทุกๆ ปีวัคซีนสามารถช่วยชีวิตคนได้ถึง 2.5 ล้านคนทั่วโลก และช่วยให้ 750,000 คนทั่วโลก รอดพ้นจากความพิการต่างๆ


นอกจากนี้ ยังมีโรคใหม่ๆ ที่ต้องการวัคซีนในการต่อสู้โรคระบาดเป็นสิ่งเราควบคุมไม่ได้ และส่งผลไปยังเศรษฐกิจ ตัวอย่าง เช่น ช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาด ในสหรัฐอเมริกา ปี 2550 ส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ GDP ลดลงมากกว่า 5.5% สูญเสียเศรษฐกิจ 683 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 24 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยวลดลง 80% การขนส่งลดลง 67% เกษตรกรรม ก่อสร้าง การเงิน ลดลง 10% ทั้งนี้ ในประเทศไทยเอง ก็เจอวิกฤตไข้ หวัดนก H5N1 ในช่วงปลายปี 2546- ต้นปี 2547 ทำให้ประเทศไทยเกิดความเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไก่ที่ส่งไปยังยุโรปถูกตีกลับ และไทยต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ จากการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อให้สามารถใช้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศมากว่า 2 ศวรรษ ของ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด หรือ GPO-MBP ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง องค์การเภสัชกรรม บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด เมื่อปี 2540 ตามมติรัฐมนตรี ส่งผลให้ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนจากโรคที่ป้องกันได้ถึง 4 โรค ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี โดยผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตยาที่ดีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) นอกจากนี้ โรงงานผลิตวัคซีน GPO-MBP ยังเป็นศูนย์กลาง (HUB)ในการส่งออกวัคซีนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

เภสัชกร บุญรักษ์ ถาวรรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เริ่มการผลิตวัคซีนครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน มีการผลิตทั้งวัคซีนชนิดผงแห้ง 4 ล้านขวด และชนิดเหลวถึง 20 ล้านขวดต่อปี รวมมูลค่ากว่า 3,800 ล้านบาท มีการส่งออก "วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี" ไปยัง 15 ประเทศ กว่า 2 ล้านโดสต่อปี รวมมูลค่าส่งออกกว่า 400 ล้านบาท ขณะนี้ ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และพม่า ได้มีการผลิตวัคซีนใช้เองเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก WHO

ด้าน นายแพทย์ ดร. จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 และมีผลบังคับใช้วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้นว่า “พ.ร.บ.ดังกล่าว เปรียบเสมือนตัวกำหนดให้มีกลไกที่ เป็นระบบในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้มีการวิจัย การพัฒนา การผลิต การประกัน การควบคุมคุณภาพ การจัดหา การกระจายวัคซีน และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสมและต่อเนื่องในระยะยาว และผลักดันประเทศสู่ความมั่นคง สามารถพึ่งตนเองและการเป็นผู้นำด้านวัคซีนในระยะยาว

"ประเทศไทยมีศักยภาพระดับโลก และอาเซียนก็มอบให้ไทยเป็นลีดเดอร์ ในการสร้างความร่วมมือกับทั้ง 10 ประเทศ หากมีความร่วมมือจาากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะสามารถผลักดันให้มีการพัฒนางานด้านวัคซีนไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ และทำรายได้เข้าประเทศโดยการส่งออกวัคซีน" ดร.จรุง กล่าวทิ้งท้าย