วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 ธ.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 ธ.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบลด หลังสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงน้อยกว่าคาด ประกอบกับโอเปคคาดอุปสงค์น้ำมันดิบปี 62 ลด

-/+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 7 ธ.ค. 61 ปรับตัวลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลง 3 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล

- ตัวเลขอัตรากำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล

- รายงานประจำเดือนของกลุ่มโอเปค เปิดเผยว่า อุปสงค์น้ำมันดิบในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 31.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับตัวลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนก่อนหน้า และลดลง 1.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับอุปสงค์ในปัจจุบัน

-  ซาอุดิอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ 377,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเกือบ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียคาดว่าการผลิตน้ำมันดิบในประเทศจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวันใน เดือน ม.ค. ปีหน้า

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดน้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียยังคงซบเซา แม้ว่าโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งในประเทศจีนจะปรับลดกำลังการผลิตก็ตาม

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานยังคงล้นตลาด โดยตัวเลขกำลังการผลิตน้ำมันดีเซลของประเทศญี่ปุ่นในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากอุปสงค์ในประเทศจีนที่ปรับตัวลดลง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • จับตาข้อสรุปของการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค หลังรัสเซียจะกลับมาให้ข้อสรุปในวันที่ 7 ธ.ค. 61 ว่าจะตกลงปรับลดปริมาณการผลิตในระดับไหน โดยตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มผู้ผลิตมีแนวโน้มปรับลดปริมาณการผลิตลง 1.0 - 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน พ.ย. 61 มีแนวโน้มปรับลดลง แม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย อิตาลี กรีซ และตุรกี สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้
  • แคนาดาประกาศให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 8.7 หรือเท่ากับ 325,000 บาร์เรลต่อวัน จนกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังแคนาดาจะลดลง จากนั้น จะให้ผู้ผลิตลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่องราว 95,000 บาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน ธ.ค. 62 เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดิบตกต่ำ

--------------------------------------

ที่มา :  บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)       

         โทร.02-797-2999