'ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต' ดัน 'วว.' หุ้นส่วนความสำเร็จ

'ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต' ดัน 'วว.' หุ้นส่วนความสำเร็จ

เปิด 4 ยุทธศาสตร์ผู้ว่าการ วว. คนใหม่ กับบทบาท "โทเทิล โซลูชั่น โพรวายเดอร์" ก้าวสู่หุ้นส่วนความสำเร็จเอสเอ็มอีและโอท็อปผ่านงานบริการที่ครบวงจร เจรจาบีโอไอดึงอุตสาหกรรมรายใหญ่สนับสนุนเชิงซีเอสอาร์เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี

เปิด 4 ยุทธศาสตร์ผู้ว่าการ วว.คนใหม่ กับบทบาท “โทเทิล โซลูชั่น โพรวายเดอร์” ก้าวสู่หุ้นส่วนความสำเร็จเอสเอ็มอีและโอท็อปผ่านงานบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่ศึกษาวิจัย ออกแบบบรรจุภัณฑ์จนถึงการผลิตเพื่อทดสอบตลาด พร้อมทั้งเจรจาบีโอไอดึงอุตสาหกรรมรายใหญ่ช่วยสนับสนุนเชิงซีเอสอาร์เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคำแนะนำของ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบแต่งตั้ง “ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต” เป็นผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขึ้นมาจากรองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม มุ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยพัฒนาที่มีผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ดึงบีโอไอช่วยหาเอกชนใจดี

ชุติมา กล่าวว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปี พร้อมขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรรม มุ่งให้ วว. เป็นหุ้นส่วนความสำเร็จให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โอท็อปและ ประชาชน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นเครื่องมือในการบริหารการดำเนินงานขององค์กร

แม้ว่างบประมาณปี 2562 ได้รับ 1,100 ล้านบาทลดลงจากปีที่แล้วซึ่งได้รับ 1,600 ล้านบาท ทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควรโดยเฉพาะการลงพื้นที่ไปทำงานกับชุมชน อีกทั้งต้องปรับแผนการดำเนินงาน โดยจะยกเลิกโครงการที่เคยให้การสนับสนุนฟรีแก่ผู้ประกอบการ เปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบช่วยกันจ่ายในสัดส่วน วว. 70% เอสเอ็มอี-โอท็อป 30% พร้อมทั้งต้องบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เน้นเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ล่าสุดได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอว่า จะนำเสนอความต้องการของชุมชนที่มีความต้องการเครื่องมือเครื่องจักรไปยังบีโอไอ เพื่อช่วยหาผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากบีโอไอในรูปแบบซีเอสอาร์ ที่เข้ามาช่วยชุมชนเข้มแข็ง โครงการแรกจะเป็นเครื่องไล่ความชื้นผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่ทำให้เกิดความเสียหาย

“ที่ผ่านมา รายได้หลักกว่า 50% ของ วว.มาจากงานวิชาการ งานวิเคราะห์ทดสอบสอบเทียบ จากศูนย์ทดสอบมาตรวิทยา ทดสอบระบบทางราง ศูนย์บรรจุหีบห่อไทยและศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากงานวิจัยและงานบริการ วิจัย ซึ่งค่าบริการจะถูกมากเพราะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท”

ส่วนแนวทางบริหารองค์กรจะมุ่งเน้นสร้างคน เพราะ วว.เป็นองค์กรวิจัย ความสำเร็จของงานวิจัยอยู่ที่คนให้สามารถทำงานเป็นทีมจะเกิดพลังในการสร้างงานวิจัยใหม่ขึ้นมา ฉะนั้น ต้องดูแลคนเป็นอย่างดี สร้างให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น

“ที่รัฐบาลมอบหมายมาก็ต้องทำ โดยใช้ตัวฐานเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่มีอยู่แล้วในการแก้ปัญหาประชาชน ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ตามย่อมต้องมองประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก วว.พร้อมที่ให้การสนับสนุน เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือการอยู่ดีกินดีของประชาชน”

เปิดศูนย์เชี่ยวชาญเพิ่มรายได้

นอกจากนี้ วว.กำลังจะเปิดศูนย์เชี่ยวชาญใหม่ 3-4 ศูนย์ออกมาให้บริการอาทิ ศูนย์การรับรองผลิตภัณฑ์ ศูนย์ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ เช่น โปรไบโอติกส์จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยนำจุลินทรีย์ชนิดดีใส่ลงในขั้นตอนการเคลือบในผลไม้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยเรื่องระบบย่อย

ศูนย์สาหร่ายที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง อาหาร สี การนำมาใช้ทดแทนพลังงาน คาดว่า จะทำมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งขยายช่องทางการรับรู้และเข้าถึง วว.ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ส่วนปี 2561 ได้เปิดโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการที่จะต้องลงทุนเครื่องจักรด้วยตนเอง เพียงเพื่อทดลองทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกมาทดสอบตลาด

“การลงทุนสร้างโรงงานและเครื่องจักรแปรรูปอาหารที่ทันสมัยราคาสูงนับเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและจะก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจของทั้งผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการแปรรูปอาหารเดิมที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด” ผู้ว่าการ วว.กล่าว