วธ.เตรียมเสนอ 'นวดไทย-อาหารไทย' ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา

วธ.เตรียมเสนอ 'นวดไทย-อาหารไทย' ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา

"ยูเนสโก" ประกาศขึ้นบัญชี “โขน” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ปี 2561 อย่างเป็นทางการ กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมเสนอ “นวดไทย” และ “อาหารไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาในปีต่อไป

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.61 นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว โขน : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถึงรายงานผลการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ 13 ในวันที่ 26-1 ธันวาคม 2561 ณ เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเซียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ เข้าร่วมประชุม 181 ประเทศ โดยที่ประชุมได้พิจารณาและประกาศขึ้นบัญชี “การแสดงโขนในประเทศไทย” (Khon masked dance drama in Thailand) ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

นายวีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 3 แห่ง คือ สุโขทัย อยุทธยา และบ้านเชียง รวมถึงมรดกความทรงจำของโลก 5 รายการ ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1, เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของรัชกาลที่ 5 , จารึกวัดโพธิ์, บันทึกการประชุมของสยาม สมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สั่งสมให้แก่คนรุ่นหลัง

“การแสดงโขน” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นศิลปะชั้นสูงของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา ที่รวมทั้งศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรม และงานช่างฝีมือต่างๆ ถือเป็นมหรสพที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบัน มีโขนเกิดขึ้นหลายคณะ รวมถึงโขนเด็กและเยาวชน มีการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ดังนั้น คุณค่าของโขน จึงไม่ใช่เพียงศิลปะการแสดง แต่ยังสะท้อนวิถีความเป็นไทยไว้อย่างชัดเจน

S__10616842

ที่สำคัญตลอด 11 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อโขนไทย ทรงฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขนในทุกมิติ ทั้งการจัดสร้างเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ การแต่งหน้า ให้งดงามและน่าดึงดูด พร้อมพัฒนารูปแบบการจัดแสดงทั้งฉาก เวที แสง สี เสียง อันเป็นที่มาของ “โขนพระราชทาน” ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ทั้งนี้ การขึ้นบัญชีโขน ถือเป็นการเสนอรายการครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยมาตลอดตั้งแต่ปี 2552 – 2561 รวมกว่า 336 รายการ

S__10616843

จากกรณี “ลครโขลของวัดสวายอันเด็ด” (Lkhon Khol Wat Svey Andet) ของประเทศกัมพูชา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ต้องการสงวนรักษาโดยเร่งด่วน

นายวีระ ให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดี และไม่ถือว่าเป็นการขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนกับการขึ้นบัญชีการแสดงโขนในไทย เนื่องจากการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาฯ เป็นความภาคภูมิใจของประเทศที่นำเสนอให้ขึ้นทะเบียน ไม่ใช่การจดลิขสิทธิ์หรือการแสดงความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ที่สำคัญการแสดงโขนของกัมพูชาและการแสดงโขนของไทย มีแบบแผนที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ในฐานะเพื่อนบ้านคิดว่าน่าจะมีการแลกเปลี่ยนกัน อาจจะเชิญคณะที่ขึ้นบัญชีมาแสดงในเมืองไทยด้วย”

นอกจากนี้ สวธ. ได้เตรียมจัดทำแผนงานและกิจกรรมเฉลิมฉลองโขน ตลอดปี 2562 อาทิ จัดแสดงโขนรอบพิเศษ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงการจัดสร้างภาพยนตร์แอนนิเมชั่น รามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีการจัดเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสาธิตงานช่างโขน สาธิตการแสดงโขน การเสวนาความรู้คุณค่าโขน การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ จัดพิมพ์หนังสือ องค์ความรู้เกี่ยวกับโขนฉบับเยาวชน นิทรรศการ คลังข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล กิจกรรมเชิดชูให้บุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อวงการโขน และกิจกรรมแสดงโขนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

“ตอนนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีแผนที่จะเสนอ “นวดไทย” และ “อาหารไทย” อาทิ ต้มยำกุ้ง ในการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในปีต่อๆ ไปอีกด้วย” นายวีระ กล่าวทิ้งท้าย

S__10616845

สำหรับหลักเกณฑ์การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีหลักการพิจารณา 5 ข้อ ได้แก่ (1) เรื่องที่นำเสนอสอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญา (2) การขึ้นบัญชีจารึกเรื่องที่นำเสนอจะเป็นคุณประโยชน์ในการช่วยย้ำให้เป็นที่ประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์

(3) แสดงถึงมาตรการสงวนรักษาอย่างละเอียด อันสามารถจะคุ้มครองและส่งเสริมเรื่องที่นำเสนอ (4) เรื่องที่นำเสนอนั้น ชุมชน กลุ่มคน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง (หากเข้าข่าย) มีส่วนร่วม ทั้งได้รับทราบ รวมถึงให้ความเห็นชอบและยินดีพร้อมใจ อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และ (5) เรื่องที่นำเสนอนั้นอยู่ในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ ผู้เสนอตามที่นิยามไว้ในมาตรา 11.B และ 12 ของอนุสัญญาฯ