นวัตกรรมเจนวายดูแลสังคม

นวัตกรรมเจนวายดูแลสังคม

“เวลธ์ติ” ธุรกิจการเงินเพื่อผู้มีรายได้น้อย, “รีฟิล สเตชั่น” โมเดลธุรกิจแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์, “วันทา” ผลิตและจำหน่ายสินค้าจากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มกิจการเพื่อสังคม

“เวลธ์ติ” ธุรกิจการเงินเพื่อผู้มีรายได้น้อย, “รีฟิล สเตชั่น” โมเดลธุรกิจแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์, “วันทา” ผลิตและจำหน่ายสินค้าจากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise, SE) ที่คว้ารางวัลจากโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 8 สะท้อนพัฒนาการของเอสอีที่มีความหลากหลายขึ้นจากเดิมเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน

บมจ.บ้านปู ร่วมกับ สถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร จัดทำโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ปีนี้ได้สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ se.school ซึ่งเป็นคลังความรู้สำหรับคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปที่สนใจในกิจการเพื่อสังคม พร้อมเคล็ดลับความสำเร็จและล้มเหลวจากเคสตัวอย่าง เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

เรียนรู้เอสอีออนไลน์

อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า se.school จะเป็นตัวช่วยในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่8 ที่มีความพร้อมมากขึ้น ส่งผลให้ได้ผู้ที่สนใจทำกิจการเพื่อสังคมที่มีความหลากหลายและมีโมเดลธุรกิจที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น จากครั้งแรกเข้ามาประมาณ 200 ทีม คัดเหลือเพียง 5 ทีมเท่านั้นที่จะได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 2.5 แสนบาท

พัฒนาการของผู้ที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไปตามบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคม ส่วนปีนี้มีทีมที่น่าสนใจอย่าง “เวลธ์ติ” เป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ขาดโอกาสทางการเงิน เป็นนวัตกรรมในรูปแบบโมบายแอพที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีเอไอ ทำให้ระบบการวิเคราะห์มีความน่าเชื่อถือ แม่นยำและรวดเร็ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ขาดโดอกาสทางการเงิน และลดปัญหาสังคมในระยะยาว

หรือ รีฟิล สเตชั่น โมเดลธุรกิจแก้ปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกในชีวิตประจำวัน ด้วยการขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้โดยนำบรรจุภัณฑ์ของตนเองเข้ามาบรรจุสินค้ากลับไป ไม่ว่าจะเป็น ขวด โหล ฯล ลดการใช้ทรัพยากรด้านบรรจุภัณฑ์และลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง

“วันทา” ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฝ้ายออร์แกนิคทอมือย้อมสีธรรมชาติ โดยเกษตรกรผู้สูงอายุ จ.สุรินทร์ ที่มีเป้าหมายในการสร้างรายได้เสริมให้กับผู้สูงอายุ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้สารเคมีในขั้นตอนการย้อม และส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการย้อมสีธรรมชาติในระยะยาว

นอกจากนี้ ผลการประเมินโครงการ 7 ปีที่ผ่านมา พบว่า สร้างผลกระทบ 2 ด้านหลัก คือ โครงการที่ได้รับสนับสนุน 82 โครงการ อัตราการอยู่รอด 60% สูงกว่าธุรกิจสตาร์ทอัพ และในจำนวน 19 จาก 89 บริษัท มีรายได้รวม 80 ล้านบาท ส่วนอีกด้านคือ โครงการนั้นๆ สร้างผลกระทบต่อไปยังชุมชนอื่นๆ กว่า 70 แห่งทั่วประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 1.2 แสนคน

“บ้านปูยังคงให้การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็น 1ใน 9 กิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัท ซึ่งแต่ละปีได้จัดสรรงบสนับสนุนประมาณ 20 ล้านบาท เราเชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนในแต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่ามูลค่าเชิงธุรกิจ และเชื่อว่ากระแสความนิยมของกิจการเพื่อสังคมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศมากขึ้น”

ตอบโจทย์เจนวาย

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจเอสอีในประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากแนวคิดการพัฒนาธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลายด้านในสังคม ประกอบกับมีการจัดทำร่างกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่ง ครม.อนุมัติในหลักการแล้วและอยู่ในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะมีผลบังคับในช่วงต้นปี 2562 ทำให้เกิดการตื่นตัวในการทำธุรกิจนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายกับธุรกิจสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า เจนวายมีแนวโน้มอยากทำธุรกิจส่วนตัวหรือเป็นเจ้าของกิจการเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะต้องการความอิสระในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันมีความตั้งใจที่จะร่วมดูแลสังคมด้วย จึงให้ความสนใจในธุรกิจเอสอีมากเป็นพิเศษ

"แนวทางการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคมสามารถขยายฐานได้ในวงกว้าง ด้วยการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ขณะเดียวกันรูปแบบการดำเนินงานจะมีทั้งจากคนในชุมชนและคนเมืองที่เข้าไปทำงานกับคนในชุมชน ที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น”