กสทช.รื้อเกณฑ์ประมูล“5จี”

กสทช.รื้อเกณฑ์ประมูล“5จี”

ลดค่าไลเซ่นจากการประเมินราคใหม่ จำกัดพื้นที่ให้บริการ พร้อมยืดงวดจ่ายยาวไปถึง 15 ปี

กสทช.รับประมูล5จีอาจต้องวางเกณฑ์ประมูลใหม่ หลังเอกชนไม่มีเงินเข้าประมูลแล้วหากยังกำหนดราคาไลเซ่นสูงลิ่ว ชี้อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการเทอมการจ่ายเงินยืดยาวสุด 15 ปีเท่าอายุใบอนุญาต พร้อมประเมินมูลค่าคลื่นใหม่ให้เข้ากับความเป็นจริง พร้อมกับกำจัดวงพื้นที่ให้บริการเพื่อตัดต้นทุนเอกชน ชี้ 5จีเกิดแน่นอนปี 63-64 หากทุกอย่างเดินตามโรดแมป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การจะผลักดันให้เกิด 5จีขึ้นในประเทศจะมาจาก 2 ส่วนคือภาครัฐ 20% และเอกชน 80% โดยในส่วนที่เป็นหน้าที่ภาครัฐก็จะพยายามอำนวยความสะดวกและให้เอกชน จูงใจให้เข้ามาลงทุนได้อย่างสบายใจ และสามารถอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่าน สำนักงานกสทช.จัดประมูลในย่านความถี่ต่างๆตั้งแต่ปี 2556 สามารถนำส่งรายได้ให้แก่รัฐมากถึง 361, 032 ล้านบาท

ทั้งนี้ สิ่งที่กสทช.จะทำเพื่อให้มั่นใจว่า 5จีจะเกิดขึ้นในปี 2563-2564 หากมีการจัดสรรคลื่นได้ตามโรดแมป คือการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นใหม่ จะมีการประเมินมูลค่าคลื่น 5จีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด แต่อยู่บนพื้นที่ว่ารัฐต้องไม่เสียประโยชน์ 2.งวดการจ่ายเงินจะยืดออกไปเป็น 10 ปี หรือ 15 ปีเท่ากับอายุใบอนุญาต จากเดิมที่งวดการชำระค่าใบอนุญาตอยู่ที่ 4-6 ปี ก็เพื่อให้เอกชนมีความสามารถในการเข้ามาประมูล และเป็นการจูงใจ และ 3.เปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานใหม่เดิมหลักเกณฑ์ในการประมูลจะเป็นใบอนุญาตที่ให้บริการได้ทั่วประเทศ แต่ต่อไปอาจจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในพื้นที่ขนาดย่อมแล้วแต่ภาคการผลิต เฉพาะพื้นที่ให้บริการไปพรางก่อน เช่น พื้นที่เศรษฐกิจ หัวเมืองสำคัญ หรือในภาคการผลิตในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม โดยสำนักงาน กสทช.จะเร่งปรับรูปแบบของคลื่นความถี่ใหม่ การอนุญาตในรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรัฐและเอกชนมากขึ้น ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถลดต้นทุนได้

เขา เสริมว่า 5จีมี 3 องค์ประกอบการสำคัญ 1.ความเร็วการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตโดยขณะนี้ 5จีมีความเร็วกว่า 4จี 15 เท่า ซึ่งเชื่อว่า หากการให้บริการ 5จีมีความแพร่หลายการใช้งานแล้วจะมีความเร็วมากถึง 100 เท่า 2.การเชื่อมต่ออุปกรณ์ใน 1 ตารางกิโลเมตรปกติไม่เกิน 1 แสนชิ้น แต่ 5จีจะเชื่อมต่อได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นในแง่ภาคการลงทุนน่าจะเกิดประสิทธิภาพ 3.ความเสถียรด้านการใช้งาน 5จีจะมีการให้บริการทางสาธารณสุขได้ดีขึ้น

สำหรับเรื่องคลื่นความถี่สำหรับให้บริการนั้น โดยปัจจุบันรวมกันมีการใช้ 340 เมกะเฮิรตซ์รวมกันทั้งอุตสาหกรรม แต่เมื่อมี 5จีเข้ามาแล้วกสทช.ก็จะต้องจัดสรรคลื่นให้เพียงพอโดยล่าสุดพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกสทช.ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ซึ่งปัจจุบันใช้งานอยู่ในกิจการทีวีดิจิทัล ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จใน 2 เดือน 2.ในย่านความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีแผนจะเรียกคืนจากหน่วยงานของรัฐโดยปัจจุบันบมจ.อสมทถือครองอยู่ 180 เมกพเฮิรตซ์ 3. คลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ตอนนี้ บมจ.ไทยคมใช้งานอยู่ 200 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่ง จะมีการประสานเรียกคืนต่อไป และ 4.คลื่น 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีจำนวน 3000 เมกะเฮิรตซื เป็นคลื่นว่างอยู่ยังไม่มีการใช้งาน ดังนั้น จึงเหมาะจะไปทำ 5จีในไทย

อย่างไรก็ตาม หาก 5จีไม่เกิดขึ้นนั้น สำนักงานกสทช.ได้วิเคราะห์งว่า ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมจะสูญ้สียโอกาสมากกว่า 7 แสนล้านบาท -1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งภาคการผลิตจะกระทบหนักสุดเพราะต้นทุนสูงขึ้นแต่มูลค่าเพิ่มทางการผลิตต่ำลง ไทยจะเสียเปรียบในแง่การส่งออก การท่องเที่ยวที่จะดึงเอาเทคโนโลยีเออาร์-วีอาร์จะไม่เกิดขึ้น และ ภาคสาธารณสุขจะกระทบหนักขึ้น โดยกสทช.ได้มีเอ็มโอยูกับญี่ปุ่น ในการรักษา 4 โรค คือ 1.ผิวหนัง 2.ตา 3.ความดันโลหิตสูง และ 4.เบาหวาน หากเราสามารถลดการเดินทางไปจะทำให้ลดค่ารักษาพยาบาลต้นทุน 38,000 ล้านบาทต่อปีได้