เทคโนฯอีวีดัดแปลง ปูทางสู่ฮับยานยนต์ไฟฟ้า

เทคโนฯอีวีดัดแปลง  ปูทางสู่ฮับยานยนต์ไฟฟ้า

“i-EV” รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงนิสสันอัลมีร่า วิ่งได้ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ผลงานสวทช. เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมพิมพ์เขียวให้อู่รถยนต์และบริษัทรถยนต์นำไปขยายผลเชิงพาณิชย์

“i-EV” รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงยี่ห้อ Nissan Almera วิ่งได้ 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ผลงานสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมพิมพ์เขียวให้อู่รถยนต์และบริษัทรถยนต์นำไปขยายผลเชิงพาณิชย์

โครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อุดหนุนงบ 25 ล้านบาท และ จาก สวทช.อีก 35 ล้านบาท มุ่งพัฒนาชุดอุปกรณ์ดัดแปลงรถยนต์เก่าที่ใช้งานมานานแล้วให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในราคาไม่เกิน 2 แสนบาท (ไม่รวมแบตเตอรี่) ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าราคา 3-4 ล้านบาท

เปลี่ยนรถเก่าให้เป็นมิตร

วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ตามที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต เพราะเป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลภาวะต่ำ ประกอบกับแนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะลดลง อีกทั้งรถที่ผ่านการใช้งานมานานแล้วอาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กฟผ. จึงมุ่งมั่นผลักดันโครงการวิจัยรถไฟฟ้าดัดแปลงให้สำเร็จ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อรับกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือกับ กฟผ.ในเฟสแรกประสบผลสำเร็จในการใช้ชุดอุปกรณ์ดัดแปลง ซึ่งถูกพัฒนาต้นแบบและกำหนดค่าอัตโนมัติต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง โดยนำร่องเปลี่ยนฮอนด้าแจ๊สเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและสามารถนำมาใช้งานได้จริง

ส่วนนิสสันอัลมีร่า 1200 ซีซี เป็นรถต้นแบบเฟส 2 ที่จะนำไปต่อยอดให้เกิดศูนย์บริการดัดแปลงรถไฟฟ้า โดยกลางปีหน้า กฟผ.จะเปิดคอร์สถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมพิมพ์เขียวให้บริษัทรถยนต์และอู่รถที่สนใจให้มีระดับราคาที่ประชาชนเป็นเจ้าของได้

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลค่าพลังงาน พบว่า รถเชื้อเพลิงน้ำมันมีค่าใช้จ่าย 1 บาทต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ส่วนรถพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 60 สตางค์ ใช้เวลาชาร์จ 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดโครงการในเฟส 3 จะสามารถอัดประจุแบบเร็วหรือใช้เวลาชาร์จเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ในระยะทางประมาณ 150 - 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง (ด้วยการวิ่งความเร็วเฉลี่ย 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าคือ การสึกหรอของเครื่องยนต์ลดลงเพราะไม่ใช้น้ำมัน ทำให้ประหยัดในการซ่อมบำรุง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนจะคุ้มทุนภายในกี่ปีขึ้นอยู่กับประเภทแบตเตอรี่ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาแบตเตอรี่ในปี 2563 จะลดลงเหลือไม่เกิน 2 แสนบาทจากปัจจุบันที่ราคา 5 แสนบาท

“ขณะนี้เป็นจุดเริ่มต้นของยานยนต์ไฟฟ้า แต่เมื่อไรที่ราคาแบตเตอรี่ลดลง โอกาสที่จะได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมเทคโนโลยีให้พร้อมกับตลาดในอนาคต เหมือนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค”

ตั้งเป้า 3 ปีฮับยานยนต์ไฟฟ้า

ณรงค์ กล่าวอีกว่า แนวคิดการดัดแปลงรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศมีบ้าง อาทิ สเปน สหรัฐอเมริกา แต่ราคาแพงกว่าไทยหรือประมาณหลักล้านบาทต่อคัน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล ขณะที่เยอรมนีไม่ยอมรับรถดัดปลงฯ เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ป้อนตลาดโลก จึงมีความพยายามกีดกันจากค่ายรถ

“เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย บริษัทผู้ผลิตที่เกิดใหม่ไม่ได้มาจากเมืองดีทรอยต์ ซึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่มาจากซิลิคอนวัลเลย์ เพราะเทคโนโลยีทุกอย่างมาแล้วเพียงแต่ไม่ได้มาในเซกเตอร์ของรถยนต์”

โครงการพัฒนาชุดดัดแปลงนี้จึงเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้รถกับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งได้องค์ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น การเตรียมทักษะความพร้อมและเทคโนโลยีให้กับอู่รถที่จะปรับตัวรับการมาของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนชุดอุปกรณ์ดัดแปลงฯ ( EV conversion Kit) จะมีผลต่อตลาดและอุตสาหกรรมในอนาคตอย่างต่อเนื่องจากองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นมา คาดภายใน 3 ปี ไทยจะเป็นผู้นำด้านนี้และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศและลดมลภาวะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม