ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 26 - 30 พ.ย. 2561

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 26 - 30 พ.ย. 2561

ราคาน้ำมันดิบผันผวน จากข่าวการปรับลดการผลิต ท่ามกลางตลาดที่อยู่ในภาวะอุปทานล้นตลาด

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ  49 - 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ  55 - 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 - 30 พ.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะผันผวน จากข่าวความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่จะปรับลดกำลังการผลิต ประกอบกับการปรับลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน จากผลของการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังต้องติดตามปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความต้องการใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาด หลังอุปทานน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง และเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • จับตาความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ หลังแหล่งข่าวเผยว่าผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคมีการพูดคุยเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตของปี 62 ลงสูงสุดถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับการผลิตในเดือนต.ค. 61 โดยข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตจะมีการพิจารณาในการประชุมวันที่ 6 ธ.ค. 61 ซึ่ง ซาอุดิอาระเบียก็ได้ส่งสัญญาณว่าควรจะมีการลดกำลังการผลิตเพื่อที่จะรักษาสมดุลตลาดน้ำมันดิบ เนื่องจากตลาดเริ่มเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาด ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผยว่ากลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะลดกำลังการผลิต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะให้ความร่วมมือกับการตัดสินใจของกลุ่มโอเปก
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือนพ.ย. 61 คาดว่าจะปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ โดยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าไม่มีการส่งออกน้ำมันจากอิหร่าน เนื่องจากการวางแผนซื้อน้ำมันดิบได้ทำล่วงหน้าก่อนที่จะมีการประกาศผ่อนผัน อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศผ่อนผัน บางประเทศเริ่มมีแผนที่จะกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านอีกครั้ง เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่นวางแผนที่จะกลับมานำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านตั้งแต่เดือนม.ค. 62 เป็นต้นไป
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มปรับลดลง หลังโรงกลั่นส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพื่อเป็นวัตถุดิบของโรงกลั่นปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ในสัปดาห์ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะแตะระดับเฉลี่ยที่ 11.66 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธ.ค. 61
  • ตลาดยังคงกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาด หลังผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสามประเทศได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย และซาอุดิอาระเบียปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่าน แต่สหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศ ยังสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ ซึ่งเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบของอิหร่านหายไปจากตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ ความต้องการใช้น้ำมันโลกก็ยังเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ IMF ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากร้อยละ 3.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 7 ในปี 61 โดยภาวะอุปทานล้นตลาดสะท้อนให้เห็นจากปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Inventories) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนก.ย. 61 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/61 สหรัฐฯ รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 - 23 พ.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 6.04 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 50.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 7.96 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 58.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังถูกกดดันจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเกิดจากนักลงทุนผิดหวังกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับตลาดยังคงกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาดเนื่องจากสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีหน้าคาดว่าจะถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่จะมีการหารือเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิต