“บางกอกเพรพ” ห้องเรียนบ่มเพาะ "พลเมืองโกลบอล"

“บางกอกเพรพ” ห้องเรียนบ่มเพาะ "พลเมืองโกลบอล"

ทายาทของคนในแวดวงการศึกษาที่ต้องมาบริหารธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ธุรกิจที่ต้องอยู่รอดไปพร้อมกับพันธกิจคืนสิ่งดีสู่สังคม ด้วยการปลุกปั้นเมล็ดพันธุ์คนดีคุณภาพระดับโกลบอลจากรุ่นสู่รุ่น

เพราะเติบโตมากับครอบครัวการศึกษา พ่อ(ต่อตระกูล ยมนาค) อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิศวกรชื่อดัง และแม่ (ภัทราดา ยมนาค) ก็เป็นผู้ที่เติบโตมากับแวดวงการศึกษา เจ้าของโรงเรียน อนุบาล ซิสเต็มส์ ลิเทิล เฮาส์ (System’s little house) ย่านทองหล่อ จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อครอบครัวคิดถึงธุรกิจก็คิดถึงเพียงการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ถนัดและมีบทบาทบ่มเพาะเยาวชนให้เติบโต เป็นผู้ใหญ่พลเมืองดีมีคุณภาพของสังคม

พิมภัทร์ ยมนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนนานาชาติ บางกอกเพรพ (Bangkok International Preparatory & Secondary School) ทายาทคนแรก คือผู้ที่รับหน้าที่บริหารโรงเรียนซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวเล่าถึงความเป็นมาของธุรกิจว่า “ครอบครัวเราไม่ถนัดทำธุรกิจอย่างอื่น นอกจากการศึกษา เพราะพ่อแม่ก็เป็นคนในแวดวงการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่บ่มเพาะคนให้เติบโตเป็นพลังสำคัญประเทศ และของโลก” นี่คือปรัชญาที่คิดจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา

ด้วยพันธกิจในการก่อตั้งโรงเรียนเพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนไปให้ถึงขีดสุด ในสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เป็นนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ การกีฬา หรือด้านอื่น โรงเรียนไม่ได้เน้นจะสุดโต่งด้านไหนด้านเดียว เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกๆคนเก่งกันคนละแบบ อยากให้เด็กทุกคนสามารถ shine (แสดงศักยภาพ) ได้ทุกคน  เธอเล่า

เมื่อนักเรียนจากโรงเรียนอนุบาลเติบโตขึ้นก็มองหาโรงเรียนต่อเนื่องจากอนุบาล จึงเป็นที่มาของการทุ่มเงินก้อนโตซื้อที่ดินติดรถไฟฟ้าสถานีทองหล่อ บนถนนสุขุมวิท53 เนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง เพื่อรองรับนักเรียนที่เติบโตสู่ระดับประถมการศึกษาตั้งแต่ปี 2546 ในชื่อโรงเรียนนานาชาติ บางกอกเพรพ สวนทางกันกับยุคที่มีคนรวยอู้ฟู้จากการขายดิน ทำคอนโด

แม่เริ่มตั้งอนุบาลเล็กจนมีชื่อเสียง และด้วยความโชคดีที่ญาติผู้ใหญ่มีเจตนารมณ์ที่อยากให้พัฒนาที่ดินเป็นโรงเรียนมากกว่าเป็นคอนโดมิเนียม หรือห้างสรรพสินค้าจึงได้ที่ดินสุขุมวิท53 วันแรกมีเด็กนักเรียน7คน ครู7คน แต่ปีต่อๆ มาเพิ่มเป็นร้อย และเมื่อเด็กจบประถมแล้วไม่รู้จะไปต่อที่ไหน เลยขยายเป็นมัธยมต่อ

จากวันแรกที่ลงทุนทำโรงเรียนเพื่อรองรับการขยายตัวของนักเรียนเก่า ที่บางกอกเพรพ เข้าสู่ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจที่ยากและท้าทาย หวังผลให้เติบโตรวดเร็วและเร็ววันไม่ได้ เปิดสอนมากว่า 15 ปี มีนักเรียนกว่า 1,500 คน ตั้งแต่ประถมถึงระดับมัธยม

รวมถึงการขยายแคมปัสแห่งที่ 2 ที่สุขุมวิท 77โซนที่ยังติดระดับที่ดินแพง แต่ทางบอร์ด(คณะกรรมการบริหารโรงเรียน) อนุมัติให้ซื้อที่ดินเพิ่ม 20 ไร่ เปิดตั้งแต่ปี 2559 เพื่อระบายความแออัดสำหรับเด็กระดับมัธยมได้มีพื้นที่ให้เด็กได้วิ่งเล่นทำกิจกรรมกีฬาที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น สนามฟุตบอล พื้นที่ปีนเขา สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก

“เราเติบโตและขยายธุรกิจตามความต้องการตามการเติบโตธรรมชาติ (Organic Growth) ธุรกิจการศึกษาต้องใช้เวลาในการสะสมชื่อเสียง และสร้างความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถลงเงินไปตูมเดียวแล้วเห็นผลทันที นักเรียนที่เพิ่มขึ้นก็มาจากการบอกต่อ และสร้างชุมชน” 

ทายาทที่จบนิเทศศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาบริหารโรงเรียนนานาชาติให้กับครอบครัว บอกถึงหลักในการบริหารโรงเรียนนานาชาติให้เติบโตว่า ในยุคแรกเป็นยุคที่ต้องสร้างชื่อเสียง เพราะเริ่มต้นจากโนเนมในตลาดยังไม่มีใครรู้จัก จึงต้องพัฒนาคุณภาพ ตั้งแต่ระดับครู ผู้สร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กนักเรียนเติบโตเป็นคนที่มีศักยภาพทัดเทียมระดับโลก มีการวัดมาตรฐานการศึกษาระดับสากล รวมถึงระบบการเรียนการสอนที่ได้รับการยอมรับจากอังกฤษ อาทิ Council of International School (CIS), New England Association of School and Colleges(NEASC)

ขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย เชื้อชาติ ภาษา ช่วยให้ได้เรียนรู้ ยอมรับและปรับตัวในความแตกต่าง เห็นได้จากสัดส่วนนักเรียนต่างชาติในสัดส่วนที่คละกันอย่างเหมาะสม โดยเป็นนักเรียนไทย 40-45% นักเรียนต่างชาติ ทั้งเอเชีย มีทั้งอินเดีย จีน เกาหลี ส่วนตะวันตก ทั้งจากยุโรปและอเมริกา ในสัดส่วน 50-55%

ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียน ที่เสริมศักยภาพของนักเรียนทุกคนให้ถึงที่สุด ในสภาพแวดล้อมนานาชาติ ในทุกด้าน แรงบันดาลให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดและทักษะของตัวเอง เพื่อก้าวไปเฉิดฉายในระดับโลก

“เป็นความลงตัวที่มีนักเรียนเข้ามาในสัดส่วนที่เหมาะสม จึงเอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นสากลระดับโลก และทำให้นักเรียนอยู่รวมกันได้บนความหลากหลาย พลเมืองโลก(Global Citizen)”

ที่สำคัญจุดเด่นของนักเรียนนานาชาติ ที่แตกต่างจากนักเรียนในระบบ คือ บุคลิกของการเป็นนักคิดวิเคราะห์ และเก่งทักษะหลากหลายด้าน ทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ และวิชาการ ซึ่งนักเรียนจะได้รับการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic) และสิ่งที่จะวัดผลสุดท้ายคือการสร้างเด็กที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่มีคุณภาพด้วยการรู้จักตอบแทนสังคม รวมไปถึงมีใจรักสิ่งแวดล้อม

โดยโรงเรียน บางกอกเพรพ เป็นโรงเรียนได้รับการยอมรับ เป็นต้นแบบโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย (Eco School) อาทิ โรงเรียนสีเขียว (Green Eco) ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ โดยรางวัลซึ่งได้รับจากองค์กรต่างประเทศ ถือเป็นโรงเรียนแรกในไทย และโรงเรียนที่สองในโลก คือรางวัลธงสีเขียว (Green Flag) จาก Eco School Organization

การปลูกฝังให้เด็กมีจิตสาธารณะช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมและ สิ่งแวดล้อม นั้นไม่ใช่เพียงการสอน แต่ต้องมีส่วนร่วมทำกิจกรรม มีการออกแบบและสนับสนุนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน พัฒนาหลักสูตร กิจกรรม สอดแทรกแนวคิดการอนุรักษ์ การปลูกฝังไอเดีย และสร้างแรงบันดาลใจในการคิดถึงโลกในวันข้างหน้า อาทิ การจัดการลดพลาสติก แยกขยะ มีแผงโซลาร์เซลล์ มากกว่า 600 กิโลวัตต์ใช้ในโรงเรียน รวมถึงมีการทีมด้านสิ่งแวดล้อม (Eco Team) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน มีครูเป็นที่ปรึกษา ที่ตื่นตัวในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม