‘เบลคิน’ปักธงอุปกรณ์เสริมพรีเมียม

‘เบลคิน’ปักธงอุปกรณ์เสริมพรีเมียม

“เบลคิน” เร่งเกมลุยตลาดอุปกรณ์เสริมในไทย ปักธงผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม พร้อมเดินหน้าขยายช่องทางจำหน่ายเชิงไลฟ์สไตล์-ออนไลน์ เผยไทยตลาดทำเงินอันดับ 1 ในอาเซียน

นายชาคริต ศิริกุลประดิษฐ์ ผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเซียน เบลคิน อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เสริมชั้นนำจากสหรัฐ กล่าวว่า แนวทางการทำตลาดของเบลคินในประเทศไทยยังคงเน้นสินค้าระดับพรีเมียมเป็นหลัก ปัจจุบันที่นำเข้ามาจำหน่ายแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักประกอบด้วย 1.อุปกรณ์เสริมสำหรับสมาร์ทโฟน 2.อุปกรณ์เสริมสำหรับสมาร์ทวอทช์ 3.อุปกรณ์เสริมสำหรับคอมพิวเตอร์ และ 4.อุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

"สินค้าที่วางจำหน่ายหลักๆ จะอยู่ในระดับราคากลางถึงบน ด้านคุณภาพมีทั้งเทียบเคียงกับแบรนด์นั้นๆ และที่ดีกว่า อึดกว่า เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าด้านนี้โดยเฉพาะดังนั้นวัสดุที่นำมาใช้จะต้องดีที่สุด"

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่าย ขณะนี้สามารถเข้าไปได้อย่างครอบคลุมทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ค้าปลีกไอที ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์แอ๊ปเปิ้ล รวมถึงบนช่องทางออนไลน์เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล ฯลฯ กลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นเข้าไปเชิงไลฟ์สไตล์มากที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดสมาร์ทโฟนในภาพรวมจะทรงๆ ค้าปลีกค่อนข้างชะลอ แต่ที่ผ่านมาเบลคินสามารถเติบโตได้แบบสวนทาง ปัจจัยผลักดันมาจากการสร้างจุดต่างด้วยนวัตกรรม นำเสนอสินค้าที่เป็นกระแส เช่นระยะหลังที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ที่ชาร์จแบบไร้สาย 

นอกจากนี้ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ด้วยสินค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างฟิล์มกันรอยสำหรับสมาร์ทโฟน จากการทำตลาดมาระยะหนึ่งพบว่าผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นตลาดที่ทำรายได้ให้บริษัทเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และขณะนี้กำลังจะเข้าไปบุกตลาดอินโดนีเซียและเวียดนามด้วย

เขากล่าวว่า ภาพรวมตลาดอุปกรณ์เสริมในประเทศไทยค่อนข้างทรงตัว จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ขณะเดียวกันไม่มีสินค้าใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมออกมา โดยปีหน้ายังต้องลุ้นว่าหลังการเลือกตั้งสถานการณ์จะออกมาในรูปแบบใด แต่คาดว่าการที่ลูกค้าเริ่มมีประสบการณ์กับสินค้ามาพอสมควรจะทำให้หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี แม้ว่าราคาจะแพงกว่า และทำให้ตลาดขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ

“ผมเชื่อว่าโอกาสทางการตลาดยังคงมีอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเรียนรู้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่ราคาไม่แพงอาจมีอายุการใช้งานที่ต่ำ เมื่อเสียและต้องการซื้อชิ้นใหม่มาใช้งานทดแทนจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่พรีเมียมมากขึ้นกว่าเดิม เราเองพยายามนำเสนอสินค้าให้กว้างที่สุด ครอบคลุมทั้งผู้ใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไอที ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์”