ดอลล์ลาร์อ่อนเทียบค่าเงินสกุลหลักทั่วโลก

ดอลล์ลาร์อ่อนเทียบค่าเงินสกุลหลักทั่วโลก

หลังรองประธานเฟดชี้อัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับเป็นกลาง

ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 พ.ย.) หลังจากนายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดใกล้ถึงจุดที่จะกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เป็นกลางแล้ว โดยนักลงทุนมองว่าการแสดงความเห็นดังกล่าวของรองประธานเฟดนั้น อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 112.84 เยน จากระดับ 113.59 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9997 ฟรังก์ จากระดับ 1.0057 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3164 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3170 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1412 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1348 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2830 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2796 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7330 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7290 ดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากนายริชาร์ด แคลริดา รองประธานเฟดกล่าวว่า เฟดใกล้ถึงจุดที่จะกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เป็นกลางแล้ว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ควรอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ

นายแคลริดากล่าวว่า ตลอดเวลาเกือบ 3 ปีที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดใกล้ถึงระดับที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นายแคลริดานับเป็นเจ้าหน้าที่เฟดรายที่ 2 ต่อจากนายราฟาเอล บอสติค ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ที่ระบุว่า เฟดใกล้ถึงระดับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางแล้ว

นอกจากนี้ นายแคลริดาตั้งข้อสังเกตว่า สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ระดับ 3% ขณะที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้อยู่ที่ 2.00-2.25% และตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนหน้า

เฟดเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนต.ค. โดยปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. และเมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนต.ค. ซึ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวชี้วัดการปรับตัวของภาคการผลิต เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค