“พิเชฐ”เรียกทีมถกร่างกม.ไซเบอร์ใหม่วันนี้

“พิเชฐ”เรียกทีมถกร่างกม.ไซเบอร์ใหม่วันนี้

กระทรวงดีอีเขิญหน่วยราชการ เอกชน ประชุมรับฟังความเห็นร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับแก้ไขวันนี้ ก่อนเร่งชงเข้าค.ร.ม. และสนช. ให้ทันสิ้นปี เชื่อเป็นไปได้สูงโอนไทยเซิร์ต หน่วยงานภายใต้เอ็ตด้าที่ทำหน้าที่ดูและภัยคุกคามไซเบอร์ออกมาตั้งเป็นกปช.

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ภายหลังจากนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้ประชุมรับฟังความเห็นจากตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาทิ คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กรรมการไซเบอร์) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ โดยมีผลสรุปไปก่อนหน้านี้ และมีความเห็นตรงกันให้ปรับปรุงร่างฯใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ในอนาคต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีขอให้กรรมการไซเบอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายช่วยยกร่างกฎหมายดังกล่าวใหม่

ล่าสุด คณะทำงานจัดทำร่างกฎหมายได้ยกร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เกือบเสร็จแล้ว แต่ยังต้องหารือในบางประเด็น โดยมีกำหนดนำร่างเข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนายพิเชฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ตัวแทนจากรัฐบาล หน่วยงานรัฐ เอกชน และตัวแทนสื่อมวลชนในวันที่ 19 พ.ย.นี้ 

ทั้งนี้ร่างฯ ที่จัดทำใหม่ได้ปรับปรุงประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวล อาทิ ขอบเขต ความซ้ำซ้อน การเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น คำนิยามของภัยคุกคามไซเบอร์ โครงสร้าง ขอบเขตอำนาจหน้าที่ การรักษาการ ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) การกำหนดนิยามของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) ของประเทศ การกำหนดลำดับชั้นในการให้ความสำคัญเร่งด่วน ในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Standard Operating Procedure: SOP ) การกำหนดแนวทางรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ การกำหนดบทลงโทษและอัตราโทษที่เหมาะสม

เขา กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวล ตามที่ร่างฯเดิมกำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือสพธอ. (เอ็ตด้า) ทำหน้าที่รักษาการระหว่างการจัดตั้งกปช. ในร่างที่ยกขึ้นใหม่ให้มีการตั้งสำนักงานกปช.ขึ้นได้เลย โดยไม่ต้องมีหน่วยงานรักษาการอีก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะโอนศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ไทยเซิร์ต หน่วยงานภายใต้เอ็ตด้าที่ทำหน้าที่ดูและภัยคุกคามไซเบอร์ออกมาตั้งเป็นกปช. 

อย่างไรก็ดี หลังจากประชุมในวันที่ 19 พ.ย.นี้ หากไม่ต้องมีการแก้ไขในประเด็นอื่นเพิ่มเติมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนำร่างกฎหมายส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนจะนำเสนอต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายในสิ้นปีนี้ต่อไป