พม. จับมือ แรงงาน จ้างงานคนพิการ กระตุ้นเศรษฐกิจป้องกันทุจริต

พม. จับมือ แรงงาน จ้างงานคนพิการ กระตุ้นเศรษฐกิจป้องกันทุจริต

พม. แถลงความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการจ้างงานคนพิการ ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนในโครงการของ กคช. ไตรมาสที่ 4 และโครงการรวมพลังแกนนำเด็กและเยาวชน มุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชนป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 61 เวลา 12.30 น. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ รองโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในประเด็นดังนี้ 1) การหารือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับความร่วมมือในการจ้างงานคนพิการ โดยนางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2) ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ 3) โครงการรวมพลังแกนนำเด็กและเยาวชน มุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชนป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น โดย นางเทพวัลย์ ภรณวลัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเยาวชนกรมกิจการเด็กและเยาวชน

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มุ่งเน้นให้เกิดการขจัดการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความพิการ โดยมาตรา 33 กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการในอัตราส่วน 100 ต่อ 1 (สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คน ขึ้นไป ต้องจ้างคนพิการ 1 คน) มาตรา 35 การให้สัมปทานแก่คนพิการเพื่อประกอบอาชีพ และมาตรา 34 การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำหรับปีงบประมาณ 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน (รง.) ได้มีการหารือและขับเคลื่อนงานร่วมกันตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 กระทรวง พม. และกระทรวง รง. ได้มีการประชุมหารือทบทวนแนวทางการปฏิบัติการจ้างงาน คนพิการ

โดยมีข้อสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. กำหนดแนวทางปฏิบัติและบูรณาการการดำเนินงาน ระหว่างกระทรวงแรงงาน ตาม มาตรา 33 และ 35 และกระทรวง พม. ตามมาตรา 34 พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดรายละเอียด ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจ้างงานคนพิการ นอกจากนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนพิการ องค์กรคนพิการ และสถานประกอบการได้ทราบอย่างทั่วถึงในวงกว้างต่อไป 2. กำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับ การร้องทุกข์ ร้องเรียน การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 34 และ 35 ให้มีความชัดเจน เพื่อดำเนินการได้ อย่างโปร่งใส เป็นธรรม ถูกต้อง และรวดเร็ว หากกรณีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด จะดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด และ 3. การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกลางของการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่าง สองกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ มีการกำหนดจัดประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ขับเคลื่อน การพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ภายใต้การดำเนินโครงการ "ดัชนีเศรษฐกิจชุมชน(CEI :Community Economic Index)” เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. และเพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับชุมชนอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม 2561 ทาง กคช. มีการติดตามประเมินผลข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่อยู่อาศัยของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. และชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ ซึ่งได้สำรวจตัวอย่างครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบว่า ผลการประเมินดัชนีรวมทั้ง 3 ด้าน มีค่าดัชนีเท่ากับ 56.8 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและสูงกว่าดัชนีรวมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่า 40.6 (ค่ากลาง =50) ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. มีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการอยู่อาศัย มีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่สูงกว่าค่ากลางหรือค่ามาตรฐาน ในขณะที่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ มีค่าต่ำกว่าค่ากลาง

โดยสรุปรายละเอียด ดังนี้ 1) ดัชนีด้านเศรษฐกิจ ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของ กคช. มีค่าดัชนี ด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 54.2 สูงกว่าครัวเรือนที่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนี 38.1 เนื่องจากครัวเรือน ที่อาศัยอยู่ในโครงการของ กคช. มีการเติบโตและมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจสูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสะท้อนได้จากการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และครัวเรือนมีการออมทรัพย์ 2) ดัชนีด้านสังคม ครัวเรือนอยู่อาศัยในโครงการของ กคช. มีค่าดัชนี 54.3 สูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.9 เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของ กคช. มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการทำกิจกรรมเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อความสามัคคี และชุมชนสามารถพึ่งพากันได้ และ 3) ดัชนีด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ครัวเรือนที่อยู่ในโครงการของ กคช. มีค่าสูงถึง 62.0 ในขณะที่ครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีค่าเพียง 38.9

เนื่องจากครัวเรือนในโครงการของ กคช. ส่วนใหญ่มีการดูแลรักษาสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มของดัชนีทางด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนโครงการของ กคช. กับดัชนีทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอื่นๆ พบว่า ไตรมาสที่ 4 (เดือนตุลาคม 2561) ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม 2561) จาก 54.0 เป็น 54.2 ซึ่งมีทิศทางและแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค (CCI) และดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (GSI) เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐทั้งในเรื่องการสร้างโอกาสทางอาชีพเพิ่มรายได้ ด้วยการเปิดตลาดประชารัฐภายในชุมชน และมีการลด ค่าครองชีพราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงสินค้าจำเป็นภายในครัวเรือนได้ จึงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจกลุ่มรายได้น้อย ระดับชุมชน และระดับฐานรากปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 4

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ดำเนินโครงการ "รวมพลังแกนนำเด็กและเยาวชนมุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชนป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องจิตอาสา ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการสร้างจิตสำนึกเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และเพื่อสร้างแกนนำจิตอาสาพัฒนาชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัด อำเภอ และเขต รวมทั้งสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน ซึ่งโครงการดังกล่าวกำหนด จัดขึ้นระหว่างวัน 21 - 24 พ.ย. 2561 ณ โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งรัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล

โดยมีกิจกรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ อาทิ 1) การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน” และ หัวข้อ "การขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน มุ่งสู่การเป็นแกนนำจิตอาสาในชุมชน” 2) กิจกรรม"สิทธิเด็กกับบทบาทสภาเด็กและเยาวชน” 3) กิจกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และ 4) การผลิต สื่อสร้างสรรค์ และเทคนิคช่วยการผลิตที่มีคุณภาพ สำหรับวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น. ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนระดับภาค 4 ภาค มีการนำเสนอปัญหา อุปสรรค แนวทางและข้อเสนอการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ณ รัฐสภา และเวลา 13.00 น. ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน และมติสมัชชาเด็กและเยาวชนระดับภาค ประจำปี 2561 พร้อมทั้งมอบรายงานประจำปีของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมคู่มือการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชนแก่นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล