เช็คสิทธิ 'UCEP' ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาฟรีทุกรพ.

เช็คสิทธิ 'UCEP' ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาฟรีทุกรพ.

เผยกว่า 1 ปี จ่ายเงินชดเชยรพ.เอกชนกรณีป่วยฉุกเฉินวิกฤติแล้วราว 460 ล้านบาท สิทธิบัตรทองมากสุด ภาพรวมแก้ปัญหาข้อโต้แย้งแพทย์-คนไข้ ลดรพ.เอกชนเรียกเก็บเงินคนไข้ใน 72 ชม.

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการดำเนินการ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP(Universal Coverage for Emergency Patients) ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 โดยสปสช.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้รพ.เอกชนตามนโยบายนี้ว่า คนไทยทุกคนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล(รพ.)ที่ใกล้ที่สุดได้ทั้งรพ.รัฐและรพ.เอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิ์ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์จะดำเนินการจ่ายให้รพ.ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด

รองเลขาฯสปสช. กล่าวอีกว่า หากเป็นการเข้ารับการรักษารพ.นอกสิทธิ์ที่ตนสังกัดอยู่แล้ว ไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤต แพทย์ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ หากผู้ป่วยตัดสินใจที่จะรับบริการที่รพ.นอกสิทธิ์ แต่ละกองทุนจะจ่ายให้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมด หลักเกณฑ์ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนกำหนด ส่วนที่เหลือผู้ป่วยจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง อย่างเช่น สวัสดิการข้าราชการจ่ายให้ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 8,000 บาท เป็นต้น ในการประเมินภาวะฉุกเฉินวิกฤตนั้นแพทย์ที่รพ.สามารถดำเนินการวินิจฉัยได้ แต่หากมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างแพทย์ คนไข้หรือญาติ สามารถร้องขอให้รพ.ส่งเรื่องปรึกษาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)ว่าความเจ็บป่วยนั้นเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ได้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ที่ผ่านมาดำเนินการมากว่า 1 ปี มีการจ่ายเงินชดเชยตามนโยบายนี้ไปแล้วราว 460 ล้านบาท

“การดำเนินการนโยบายนี้ที่ผ่านมา ในภาพรวมไปได้ด้วยดี สามารถแก้ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งระหว่างรพ.และผู้ป่วยในการโต้เถียงว่าฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ได้ และแก้ปัญหาเดิมที่มีรพ.เอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยในการณีเข้ารับการรักษาฉุกเฉินวิกฤตใน 72 ชม.แรกได้เช่นกัน ยังมีปัญหาเพียงส่วนน้อย คือ มีสิทธิรักษาพยายาลที่ยังไม่มีการแก้ระเบียบรองรับในการจ่ายเงินชดเชยให้กับรพ.เอกชน เช่น รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นเพียงส่วนใหญ่มีคนไทยอยู่ในสิทธิ์นี้ 8 แสนคน จากคนไทยกว่า 65 ล้านคน ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำนเนินการปรับปรุง และผู้ป่วยในสิทธิ์นี้ก็สามารถรับรักษาตามนโยบายนี้ได้เช่นกัน”นพ.การุณย์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2561 ผลการจ่ายเงินชดเชยUCEP แยกตามสิทธิ์ พบว่า 1.บัตรทอง มีคำร้องผ่านการพิจารณาเงินชดเชย 13,651 ครั้งจาก 15,780 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 307.2 ล้านบาท เงินชดเชยหลัง 72 ชม. 28.9 ล้านบาท 2.สวัสดิการข้าราชการ ผ่านพิจารณา จำนวน 3,693 จาก 4,277 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 93.2 ล้านบาท 3.ประกันสังคม ผ่านพิจารณา 226 จาก 3,384 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 8.4 ล้านบาท 4.สิทธิข้าราชการท้องถิ่น ผ่านพิจารณา246 จาก 297 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 4.6 ล้านบาท 5.สิทธิอื่นๆเช่น รัฐวิสาหกิจ ผ่านพิจารณา 348 จาก 409 ครั้ง เงินชดเชย 7.7 ล้านบาท โดยลำดับ2-5 ไม่มีเงินชดเชยหลัง 72 ชม.