KnockDoor แมทชิ่งงานแม่บ้านดิจิทัล

KnockDoor  แมทชิ่งงานแม่บ้านดิจิทัล

การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้โปรเซสที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วทำให้ทำงานต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น

ชีวิตผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิตมาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อมและเสนอตัวเข้ามาเป็นหนึ่งตัวช่วยเพื่อให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันนั้นง่ายยิ่งขึ้น

การทำความสะอาดบ้าน เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของใครหลายๆ คนที่วันนี้มีหลายๆโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพสบโอกาสและสร้างมูลค่าธุรกิจได้อย่างน่าพอใจ

“KnockDoor” หนึ่งในแพลตฟอร์มช่วยจัดหาและฝึกอบรมแม่บ้านให้กับพ่อบ้านแม่บ้านยุคใหม่ โดยแม่บ้านรายวันสามารถกดรับงานผ่านแอพพลิเคชั่น” วิชัย รามมะเริง CEO KnockDoor กล่าว

จุดเริ่มต้นของ KnockDoor วิชัย บอก แม้จะมีประสบการณ์ทำงานหลายๆ อย่างในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เกี่ยวกับไอที ส่วนใหญ่เป็นงานด้านฝึกอบรม รีครูท แต่สิ่งที่แน่ใจมาโดยตลอดก็คือ อยากทำงานที่ต้องเอาไอทีเข้ามาใช้แก้ปัญหา

โดยพบว่า การทำงานบ้านนี่แหละที่เป็นปัญหาของหลายๆ คน

“แม่บ้าน เป็นเรื่องใกล้ตัว และลูกค้าตัดสินใจง่าย แม้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เป็นการเข้ามาช่วยสร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า”

จากนั้นก็เริ่มคิดโมเดล และเริ่มทดสอบ เริ่มต้นจากแม่บ้านที่บริษัทเป็นกลุ่มแรกที่เปิดรับงานผ่านออนไลน์ ที่เมื่อสองปีก่อนจะใช้ไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสาร

“เริ่มทำไลน์แอด แล้วส่งข้อความ เมื่อมีความต้องการก็จัดส่งแม่บ้าน ซึ่งเริ่มที่แม่บ้านที่รู้จักก่อน

มองว่าเป็นการตรวจสอบตลาดโดยใช้เครื่องมือง่ายๆ จนเห็นว่าเรามาถูกทาง ก็เริ่มพัฒนาระบบ เว็บไซต์”

ช่วงแรกที่ทดสอบตลาด วิชัย บอก ใช้วิธีให้แม่บ้านประจำของที่สำนักงาน ยังไม่รีครูซคนนอกเข้ามา การทำงานจะมีการรับส่งไปยังสถานที่ที่เรียกใช้บริการ ทำแบบนี้ไปประมาณ ประมาณ 3 เดือน จนเห็นว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้มีความต้องการแน่ๆ จากนั้นจึงเริ่มรีครูทคนเข้ามา

จากการทดสอบตลาด “ทำจริง” เริ่มที่สเกลเล็กๆ ก่อน ทำให้เห็นว่า การให้บริการแม่บ้านทำความสะอาดนี้ จะเป็น “บ้าน/ที่พักอาศัย” และอีกส่วนเป็นคอนโดมิเนียม ที่วันนี้ในกรุงเทพฯมีอยู่ประมาณ 5 แสนกว่ายูนิต

ทั้งนี้ การใช้งานแม่บ้านยังมี คนไทยและต่างด้าว แต่ปัญหาที่เจ้าของบ้านและที่พักอาศัยต้องเจอก็คือ เมื่อต้องหาคนใหม่ในกรณีที่คนเก่าลาออกไปทำได้ยากมาก

“การหาแม่บ้านคนใหม่มาทดแทน ก็ไม่ง่าย เพราะต้องดูเรื่องความไว้ใจ ความปลอดภัย และความยุ่งยากเรื่องทำเอกสารการทำงาน

แพลตฟอร์มที่ทำนี้จะเป็นคนกลางเข้ามาสกรีนแทนลูกค้า หากมีของเสียหาย ก็แจ้งมาทีแอดมิน เป็นต้น

“ตั้งธุรกิจมาแล้วสองปี ถึงตอนนี้ บิสิโมเดลยังเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราพัฒนาเครื่องมือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

รวมทั้งเพิ่มบริการใหม่ๆ โดยมองที่ตอบสนองความต้องการให้ลูกค้าเป็นหลัก”

วิชัย บอก การให้บริการทำมาประมาณสองปี มีจำนวนลูกค้าเติบโต 10% ทุกๆ เดือน ถึงตอนนี้เรียกว่าบริการหลักๆ ยังคงเป็น แมชชิ่งแม่บ้านเพื่อให้บริการยังที่พักอาศัยของลูกค้า ตัวหลักๆ คือ งานทำความสะอาด จากนั้นก็เริ่มมีบริการเสริม เช่น รีดผ้า

จุดขายหลักอยู่ที่การมุ่งให้ความสำคัญกับแม่บ้านค่อนข้างเยอะ นับเป็นคีย์ซัคเซสที่สำคัญ ปัจจุบันมีแม่บ้านที่พร้อมให้บริการที่ 232 ราย ขณะที่ลูกค้าในระบบมีอยู่ประมาณ 3,000 ราย ในจำนวนนี้มีการใช้บริการซ้ำ 30%

“แม่บ้าน ต้องไว้ใจได้ ทำงานดี เราให้น้ำหนักกับการดูแลแม่บ้านอย่างดี ให้ค่าบริการที่เหมาะสม บางคนมีรายได้เกือบสามหมื่น จากที่หลายคนทำงานประจำได้ 9 พัน เต็มที่หมื่นสองพันบาท เท่ากับรายได้เพิ่มแต่ยืดหยุ่นกว่า เลือกเวลาทำงานได้

ค่าบริการอยู่ที่ขนาดของพื้นที่ เช่น คอนโด 25 ตารางเมตร อยู่ที่ 350 บาท ใช้เวลาทำงานประมาณ 1.30 ชั่วโมง เป็นต้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องราคา ถ้าได้รับบริการที่ดี”

ปัจจุบัน KnockDoor ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหลัก โดยมีแผนงาน ปี 2562 เตรียมขยายไปหัวเมืองใหญ่ๆ และสเต็ปต่อไปเป็นการให้บริการในต่างประเทศ

“มีการพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ในสิงคโปร์ แต่ก็รอที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง”

ส่วนการขยายงานให้บริการในหลายๆ มิติ วิชัย บอก จะได้เห็นแม่บ้าน KnockDoor ให้บริการอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมนอกจากการทำความสะอาด

“บริการซื้อของ” เป็นอีกหนึ่งบริการที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการของลูกค้า

“นอกจากคลีนนิ่งแล้ว เราก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า จริงๆ ลูกค้าที่เรียกใช้บริการจะมีความต้องการอย่างอื่น เช่น ซื้อของให้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล

ซึ่งชื่อ KnockDoor ก็บอกอยู่แล้วว่าเซอร์วิสให้ถึงบ้าน และเราก็มองเห็นข้อได้เปรียบตรงนี้ อย่างเช่น เวลาที่ลูกค้าเรียกใช้แม่บ้านหลายๆ ครั้งจะเกิดความคุ้นเคย ยิ่งสอดรับกับไลฟ์สไตล์คนเมืองปัจจุบันที่เวลาน้อย งานยุ่ง

เรียกแม่บ้าน และให้ซื้อของเข้ามาพร้อมให้บริการ นับว่าเป็นการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งบริการที่กำลังจะเกิดขึ้น วิชัย บอก ถึงวันหนึ่งเมื่อเครือข่ายแม่บ้านมีขนาดที่ใหญ่และครอบคลุม จะสามารถพัฒนาเซอร์วิสต่างๆ ได้อีกมากขอให้เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

ขณะที่อีกแนวรุกธุรกิจ วิชัย มองถึงการเร่งขยายตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร วันนี้เริ่มต้นไปแล้ว

“ช่วงแรกๆ เน้นทำตลาด B2C เป็นหลัก แต่พอทำตลาดไประยะหนึ่ง จะมีลูกค้าในกลุ่ม โฮสเทล และออฟฟิศเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีการซื้อแพ็คเก็จยาวๆ เพราะเริ่มเรียนรู้แล้วว่าประหยัดกว่าและไม่ต้องรับภาระในการบริหารจัดการ

“ตอนนี้ B2B เติบโตอยู่ที่ 15-20%”

ตลาดคลีนนิ่ง มูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านบาท แม้จะมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน วิชัย บอก ผมมองถึงการเป็นพันธมิตร ช่วยกันสร้างการรับรู้ตลาดให้หันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น

เหมือนกับการซื้อขายออนไลน์ที่ต้องใช้เวลาในช่วงแรกๆ ถึงวันนี้แม้แต่เด็กๆ ก็เข้าถึงได้หมด”วิชัย กล่าว

“พันธมิตร” โตไปด้วยกัน

วิชัย มองว่า KnockDoor จากนี้นอกจากเดินหน้าทั้งตลาด B2C และ B2B แล้ว อีกด้านยังมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือกันพันธมิตรให้มากขึ้น  

เมื่อ 4-5 เดือนที่แล้ว pitching กับ “AIS the startup” และมีโครงการร่วมกันอยู่

“AP” ที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาได้มีเข้าไปคุยกันแล้วในเบื้องต้นว่าจะทำโปรเจ็คร่วมกัน

“ทิพยประกันภัย” ที่เปิดให้สตาร์ทอัพเข้าร่วมพัฒนาโปรดักท์ร่วมกัน ล่าสุดมีแนวทางร่วมกันพัฒนาโปรดักท์ร่วมกันซึ่งจะทะยอยออกมาให้ได้เห็น

“บัตเลอร์” เราก็ได้ไปดูแลส่วนของงานแม่บ้าน 

การทำงานในเส้นทางสตาร์ทอัพ วิชัย บอก แม้จะเหนื่อย แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องอนาคต เพราะทิศทางโลกอนาคตต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย ที่สุดแล้วโมเดลธุรกิจต้องปรับเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยนตัวเอง ก็รอวันให้คนอื่นมาเปลี่ยน

โดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้โปรเซสที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วทำให้ทำงานต่างๆ ทำได้เร็วขึ้น"