เหตุพ่อ-แม่-ลูก หมดสติบนทางด่วนบูรพาวิถี แพทย์ชี้ขาดอากาศ

เหตุพ่อ-แม่-ลูก หมดสติบนทางด่วนบูรพาวิถี แพทย์ชี้ขาดอากาศ

หมดสติปริศนาคาทางด่วน! หนุ่มวัย 31 พร้อมแฟนสาวและลูก เกิดอาการน้ำลายฟูมปากก่อนจอดรถนอนหมดสติบนทางด่วนลอยฟ้าบูรพาวิถี เบื้องต้น​พบว่าผู้ป่วยรับสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก

วันนี้ (11 พ.ย.) จากกรณีมีการพบพ่อ-แม่-ลูก สลบอยู่ในรถยนต์บริเวณทางด่วนบูรพาวิถี เบื้องต้น​พบว่าผู้ป่วยรับสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก​ เบื้องต้นสันนิษฐานเกิดจากสูดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์​ เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องรอการตรวจสภาพรถเก๋ง​ 2 กก​ 7720​ กรุงเทพมหานคร​ ของผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อสนับสนุนสาเหตุการเกิดอาการน็อกยกครอบครัวอีกครั้ง ซึ่งหากเกิดกรณีท่อไอเสียรั่วบริเวณห้องเครื่อง หรือด้านหน้าตัวรถ อาจทำให้ไอเสียรถยนต์เข้ามาในห้องโดยสารในระหว่างที่รถวิ่งและไอเสียก็คือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO)

สำหรับ​ อันตรายจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สูตรทางเคมีประกอบไปด้วยอะตอมคาร์บอนและออกซิเจนอย่างละ 1 อะตอมได้เป็น CO คุณสมบัติทางกายภาพ เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความหนาแน่น 0.97 ซึ่งเบากว่าอากาศ ความว่องไวต่อการทำปฎิกิริยาต่ำและสามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นาน 1-2 เดือน จัดเป็นก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์​ เนื่องจากเป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่น ทำให้เข้าสู่ร่างกายได้โดยที่เราไม่รู้ตัวและเมื่อก๊าซชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้โดยจะไปรวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ดีกว่าออกซิเจนประมาณ 200-250 เท่า ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลงส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย สมองขาดออกซิเจน และถ้าได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอนไซด์ในปริมาณมากอาจทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดออกซิเจนเฉียบพลันถึงขึ้นเสียชีวิตได้

สำหรับผลกระทบของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีต่อสุขภาพมนุษย์ในระดับที่ความเข้มข้นต่างๆ แสดงดังนี้
ระดับความเข้มข้น 50 ppm ถึง 200 ppm อาการ ปวดศีรษะเล็กน้อยและอ่อนเพลีย
ระดับความเข้มข้น 200 ppm ถึง 400 ppm อาการ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรงและอาจถึงขั้นเป็นลม
ระดับความเข้มข้นประมาณ 1,200 ppm อาการ หัวใจเต้นเร็วขึ้นผิดปกติ และเริ่มเต้นผิดจังหวะ
ระดับความเข้มข้นประมาณ 2,000 ppm อาการ อาจถึงขั้นหมดสติ และอาจถึงเสียชีวิต
ระดับความเข้มข้นประมาณ 5,000 ppm อาการ อาจทำให้เสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีแต่อาจจะรอดชีวิตถ้ารีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณอับอากาศมาสู่บริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ หรือมีออกซิเจนเพียงพอ