สำนักงานสถิติฯ นำร่องสำมะโนประชากรผ่านมือถือปี 62

สำนักงานสถิติฯ นำร่องสำมะโนประชากรผ่านมือถือปี 62

สำนักงานสถิติฯ เลือกพื้นที่นำร่องปีงบประมาณ 2562 ทำสำมะโนประชากรและเคหะผ่านมือถือ ก่อนปูพรมทั่วประเทศในปีต่อไป

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า สสช. ตั้งเป้าหมายยกระดับองค์กรให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลสถิติและสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจของประเทศ โดยตั้งเป้า “1 ปี สสช.สู่  Official Statistics” และการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า ผลิตข้อมูลสำคัญสำหรับทำตัวชี้วัดของประเทศ และผลักดันการสร้างมาตรฐานของข้อมูล เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติได้

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของแปลงข้อมูลที่บันทึกและจัดเก็บไว้ในสมุดสถิติ ซึ่งรวบรวมฐานข้อมูลที่ สสช. ทำการสำรวจไว้ตลอดระยะเวลาราว 30 ปี เพื่อให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) สามารถนำไปประมวลผลต่อได้และง่ายต่อการปรับปรุงให้ทันสมัย ใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้จริง คาดว่าแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2562

 

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2562  จะเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลมากขึ้นในรูปแบบ e-Survey เตรียมนำร่องทำสำมะโนประชากรและเคหะผ่านมือถือ ก่อนปูพรมใช้จริงทั่วประเทศในปีต่อไป วิธีการนี้จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ อีกทั้งต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ รวมทั้งสามารถลดขั้นตอนและเวลาในการประมวลผลได้มาก ทำให้ผู้ใช้ได้ใช้ข้อมูลที่ทันสมัยขึ้นอีกด้วย

 

“รูปแบบการทำสำมะโนประชากรผ่านมือถือ เพื่อไม่ให้รบกวนเรื่องความเป็นส่วนตัวของเจ้าของเบอร์มือถือแต่ละราย เราจะสร้างความตระหนักรู้และการรับรู้สิทธิให้กลุ่มประชากรเป้าหมายว่าข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เราจะส่งจดหมายไปที่บ้านและมีคิวอาร์โค้ด ซึ่งถ้าใครยินดีที่จะให้เข้าร่วมสำรวจแบบ e-Survey  ของเรา ก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดนั้น และไม่ต้องกังวลเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะประเทศไทยกำลังจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ พ.ร.บ.สถิติฉบับปัจจุบัน ก็มีมาตราที่ระบุเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเอาไว้ด้วย” นายภุชพงค์กล่าว

 

ขณะที่ในส่วนของพื้นที่นำร่องบางจังหวัด ซึ่งจะคัดเลือกบางอำเภอที่สถิติดอำเภอเข็มแข็ง และดูผลตอบรับ โดยศึกษาว่าจะเริ่มในจังหวัดที่มีทั้งเขตเทศบาล รวมถึงนอกเขตเทศบาล และมีลักษณะชุมชนที่หลากหลาย เช่น นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งพื้นที่เจริญและพื้นที่ต้องได้รับการพัฒนา และชลบุรีที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม จะใช้เครือข่ายของ “สถิติอำเภอ” ซึ่งสสช. สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกลไกการพัฒนาข้อมูลในระดับพื้นที่ ให้เข้าไปสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน หรือผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน สร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักให้กับประชากรในพื้นที่

 

นายภุชพงศ์ กล่าวเสริมว่า การก้าวให้ถึงเป้าหมาย “1 ปี สสช.สู่  Official Statistics” สสช. จะดำเนินการผ่าน 4 วิธีการ ได้แก่  1.การยกระดับ (Upgrade) เป็น “ศูนย์ข้อมูสถิติจังหวัด” ตั้งเป้าปีหน้าแต่ละจังหวัดต้องมีอย่างน้อย 1 ฐานข้อมูลสำคัญที่สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดนำมาใช้ประโยชน์ในการพิจารณาแก้โจทย์ปัญหาหลักในพื้นที่ สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับคนในท้องถิ่น เช่น เชียงใหม่ แก้ปัญหาความยากจนและปัญหายาเสพติด อำนาจเจริญ แก้ปัญหาเรื่องข้าว และราชบุรี แก้ปัญหาผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ คือ สับปะรด เป็นต้น

 

2.การยกระดับ (Upgrade) เป็น e-Survey  ลดการส่งพนักงานสนามออกเก็บข้อมูล นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจข้อมูลมากขึ้น ผ่านเครือข่ายคุณมาดีที่สร้างไว้แล้วครบทุกหมู่บ้าน 3.การยกระดับ (Upgrade) การบริหารจัดการข้อมูลผ่านรหัสมาตรฐาน และ Data Catalogue สนับสนุนเป้าหมายรัฐบาลที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ซึ่งเดิมทำได้ยากเนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างกำหนดรหัสในการจัดทำข้อมูลที่แตกต่างกัน

 

และ 4.การปลดล็อก (Unlock) “ข้อมูลภาครัฐ” เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้แต่ละหน่วยงานยินยอมส่งข้อมูลตามที่ สสช. ร้องขอเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ฐานข้อมูลสถิติที่สำคัญและเป็นปัจจุบันของประเทศ” ทั้งนี้ สสช. อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.สถิติ ให้แต่ละหน่วยงานขอความร่วมมือ 20 กระทรวงที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเป็นเจ้าภาพหลักในการส่งข้อมูลและบูรณาการที่ใช้งานได้จริง