'อาเซียน' เตรียมรับมือภัยคุกคาม 'ไอเอส'

'อาเซียน' เตรียมรับมือภัยคุกคาม 'ไอเอส'

เปิดการประชุมสุดยอดต่อต้านก่อการร้าย! “วิษณุ” เผยอาเซียนเตรียมรับมือภัยคุกคาม “กลุ่มไอเอส-เทคโนโลยีดิจิทัล” หลังพบขยายตัวในหลายภูมิภาค พบใช้สื่อออนไลน์แพร่แนวคิดรุนแรง ขณะที่ออสเตรเลีย-อินโดนีเซีย ร่วมสกัดกั้นฟอกเงิน-ต่อต้านหนุนก่อการร้าย

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.61 ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (The4 th Annual Counter-Terrorism Financing Summit) โดยกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ไทยให้ความสำคัญกับการรับมือและจัดการกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย 2 กลุ่ม คือ ภัยคุกคามก่อการร้ายจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มไอเอส ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการขยายตัวและมีการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ในหลายพื้นที่ทั้ง แอฟริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่แนวคิดรุนแรง และมีแนวโน้มการก่อเหตุที่เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น และทุกประเทศมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายได้ทุกนาที จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและสกัดกั้นภัยก่อการร้ายให้เหมาะสมและภัยคุกคามจากการพัฒนาของเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงในสังคมยุคดิจิตอล เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น จึงเปรียบเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน

“เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนให้กระทำความผิดได้สะดวกมากขึ้นเช่นกัน เช่น คริปโตเคอเรนซี่ แม้ด้านหนึ่งจะช่วนการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทสตาร์อัพใหม่ๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อีกมุมหนึ่งคริปโตเคอเรนซี่ก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน ในฐานะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ในขบวนการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ การเรียกค่าไถ่ รวมทั้งการก่อการร้ายเนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมและพิสูจน์ทราบตัวตนได้ยาก เพราะสามารถปิดบังตัวตนโดยการใช้ชื่อแฝงหรือชื่อปลอม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไทยได้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว ทั้งการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การป้องกันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิดควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านการฟอกเงินที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การทุจริตและการค้า โดยมีออกและบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญๆ เช่น พ.ร.บ. สนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และการตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการปราบปรามการก่อการร้ายจะได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ไทยจะอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้วิ่งไล่ตามอาชญากร ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถูกยับยั้ง (disrupted) มาเป็นผู้ยับยั้ง (disruptor) เพื่อป้องกัน ไม่ให้อาชญากรและผู้ก่อการร้ายกระทำความผิดได้สำเร็จ และปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้คือ ความเป็น innovator changer และ synergize

ขณะที่นายปีเตอร์ ดัดตัน (Peter Dutton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย กล่าวว่า ภัยคุกคามจากนักรบต่างชาติยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อประชาชนของประเทศอาเซียนและออสเตรเลีย หากเรามีความร่วมมือใกล้ชิดก็จะทำให้มีความคืบหน้าในการต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรที่ร้ายแรง และการประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือและการประสาน งานระหว่างประเทศในการต่อต้านภัยคุกคามเหล่านี้ และนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน

ด้านพลเอก วิรันโต (Hon Wiranto ) รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวว่าตลอด 4 ปีของความร่วมมือในการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายทำให้ได้ผลลัพธ์ที่สำคัญคือการลดลงอย่างมากของการก่อเหตุในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางการเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและระดับโลก และนำไปสู่การต่อสู้กับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย