แอปฯ “อสม.ออนไลน์” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนางานสาธารณสุข

แอปฯ “อสม.ออนไลน์” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนางานสาธารณสุข

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็เห็นความสำคัญและมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับภาคเอกชนอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

ในฐานะผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลก็เห็นถึงความสำคัญของแนวโน้มดังกล่าวและมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งเราเรียกว่าแนวคิด Digital For Thais

ทั้งนี้ แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องต่างๆได้อย่างกว้างขวาง แต่มี 3 เรื่องหลักๆที่เอไอเอสให้ความสำคัญคือเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ เรื่องการเกษตร เนื่องจากอาชีพหลักของคนไทยคืออาชีพเกษตรกร และเรื่องสุดท้ายคือด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

สำหรับประเด็นที่อยากแบ่งปันประสบการณ์ในครั้งนี้คือเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข โดยตั้งโจทย์ว่าจะนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่มีเข้าไปช่วยให้กระบวนการความเป็นอยู่และวิธีการทำงานต่างๆในด้านสุขภาพให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งงานสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของระบบสุขภาพก็คือระบบบริการปฐมภูมิซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกพื้นที่ภายใต้การทำงานร่วมกับอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.)

เราพบว่าลักษณะการทำงานของ รพ.สต.และ อสม. คือการเข้าไปเยี่ยมเยือนดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชนในทุกหมู่บ้าน เช่น ติดตามดูว่าคนไข้ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือ รพ.สต.เป็นอย่างไร อาการดีขึ้นหรือ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยโรคระบาด และปัญหาสุขภาพพื้นฐานทั่วไป โดย อสม. 1 คนรับผิดชอบประมาณ 15 หลังคาเรือน เมื่อเยี่ยมบ้านแล้ว อสม.ต้องเขียนใบรายงาน ต้องเดินทางกลับมาส่งใบรายงานที่ รพ.สต.

แอปฯ “อสม.ออนไลน์” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนางานสาธารณสุข

เราจะเห็นว่าขั้นตอนนี้เสียเวลาไปกับการเดินทางเป็นส่วนใหญ่และการติดต่อสื่อสารกับรพ.สต.หรือโรงพยาบาลเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ยิ่งอยู่ไกลก็ยิ่งใช้เวลามากและอาจทำให้การรักษาไม่ทันการณ์ ดังนั้นเราจึงส่งทีมงานลงพื้นที่ศึกษาวิธีการทำงานของ อสม.และ รพ.สต. แล้วออกแบบเครื่องมือที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจนในที่สุดก็ออกมาเป็นแอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” แอปฯนี้ ซึ่งหากอธิบายแบบง่ายๆก็คือเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มสำหรับ อสม.ใช้ติดต่อกับ รพ.สต. ด้วยการส่งภาพ เสียง ข้อความ วิดีโอ และพิกัดแผนที่ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม (Close group) โดยหลังจากพัฒนาแอปฯเสร็จแล้วก็ได้นำไปเผยแพร่และอบรมวิธีการใช้งานให้แก่ รพ.สต.ที่สนใจ

เราพบว่าหลังจากที่ รพ.สต. นำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปใช้งานแล้ว รูปแบบและประสิทธิภาพการทำงานของ รพ.สต.และ อสม.เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น กรณีที่ตำบลหนึ่งๆเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก ก็จะมีการเตือนข้ามพื้นที่ผ่านแอปฯอสม.ออนไลน์ไปยังตำบลอื่นๆ ทำให้ อสม. เข้าไปดำเนินการป้องกันโรคได้รวดเร็วและได้ผลมากขึ้นจนบางพื้นที่ไม่พบไข้เลือดออกในปีที่ผ่านมา หรือกรณีจะเรียกรถพยาบาล สมัยก่อนต้องใช้โทรศัพท์อธิบายเส้นทาง แต่ปัจจุบันสามารถกดพิกัดแผนที่แล้วให้รถมารับตามพิกัดเลย ทำให้ไม่เสียเวลาและเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่าง รพ.สต.ในหลายพื้นที่ที่นำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปใช้แล้วประสิทธิภาพดีขึ้น ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลดีขึ้น เช่น รพ.สต.บ้านแก้ง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลังจากนำแอปฯอสม.ออนไลน์ไปใช้ จากเดิมที่ระบบการจัดทำฐานข้อมูลอยู่ในอันดับที่ 12 ปรากฏว่าภายในไม่กี่เดือนขยับก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่กันดับ 2

นอกจากทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพแล้ว แอปฯอสม.ออนไลน์ยังช่วยในเรื่องการประหยัดทรัพยากร เช่น ที่  รพ.สต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม พบว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสาร ช่วยประหยัดกระดาษลงไปถึง 62% หลังจากใช้แอปฯไปเพียง 7 เดือน นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งเข้ามาที่ รพ.สต. สัปดาห์ละ 350 บาทเลยทีเดียว หรือในส่วนของการให้บริการดูแลประชาชน ที่ รพ.สต.บางทอง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา หลังจากนำแอปฯไปใช้ก็ช่วยให้ รพ.สต.แจ้งเหตุด่วนหากเกิดโรคระบาดในพื้นที่ ช่วยให้ อสม.สามารถรับข้อมูลข่าวสารและป้องกันได้ทันท่วงที เช่น โรคไข้เลือดออก ในอดีตมีการระบาดมากในพื้นที่ ปัจจุบันแทบไม่มีการระบาดในฤดูกาลนั้นเลย หรือที่ จ.ปราจีนบุรี ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งให้นโยบายว่าอยากให้ปราจีนบุรีเป็นจังหวัดนำร่องเป็น อสม. 4.0 โดยใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ทั้งจังหวัด ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพประชาชนจะดีขึ้นเป็นอันมาก

ปัจจุบัน มี รพ.สต. ที่ใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์แล้วกว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศ จำนวนผู้ใช้งาน 48,000 คน ถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงว่าแอปฯนี้มีประโยชน์จริงๆจึงเกิดการขยายการใช้งานเป็นจำนวนมากในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังไม่หยุดพัฒนา ปัจจุบันเอไอเอสพัฒนาฟังชั่นการส่งรายงานการตรวจพื้นที่ของอสม.ทางออนไลน์ได้แล้ว จากเดิมที่เมื่อก่อนใช้วิธีเขียนใบรายงาย ถ่ายรูปแล้วส่งให้ รพ.สต. แต่ตอนนี้พิมพ์ผ่านมือถือส่งรายงานเข้ามาที่เซิร์ฟเวอร์ของ รพ.สต.เพื่อเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลได้เลย นอกจากนี้ยังพัฒนาให้สามารถใช้งานบนระบบ iOS ได้ จากเดิมที่ใช้ได้เฉพาะบนมือถือระบบแอนดรอยด์

สำหรับแนวทางการพัฒนาแอปฯอสม.ออนไลน์ เอไอเอสจะยกระดับการใช้งานจากเดิมที่ใช้ในระดับ รพ.สต. กับ อสม. แต่ในอนาคตจะพัฒนาขึ้นไปถึงระดับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ทั้ง 2 ระดับนี้ประมวลผลได้ด้วย อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากๆคือการพัฒนาฟังชั่นรายงานเหตุการณ์บวกกับแผนที่หรือที่เรียกว่า Spot Map เช่น โรคมือเท้าปากระบาด ก็สามารถมาร์กจุดได้ว่าบ้านหลังไหน เลขที่อะไรที่เกิดโรคมือเท้าปาก หลังจากนั้น รพ.สต.ก็จะประมวลว่าในตำบลของตัวเองมีกี่หลังคาเรือน บ้านหลังไหนที่มีโรคมือเท้าปาก หลังจากนั้นยังสามารถประมวลผลได้ในระดับอำเภอได้อีกด้วยว่าภาพรวมการระบาดทั้งอำเภอเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นตัว Spot Map จะสามารถช่วยในการคาดการณ์และวางมาตรการควบคุมและจำกัดการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่บอกเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการทำงานแล้วเกิดผลประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งโดยส่วนตัวอยากฝากถึง รพ.สต.ในพื้นที่ต่างๆว่า “อย่ากลัวเทคโนโลยี” อยากให้ลองใช้แล้วจะติดใจและใช้งานกันไปตลอด และสนใจอยากใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เอไอเอสในพื้นที่หรือโทรแจ้งความจำนงมาที่ 062-5201999 มาได้เลยค่ะ เรามีทีมงานเข้าไปช่วยเทรนวิธีการใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น.