NER - IPO 2.58 บาท

NER - IPO 2.58 บาท

NER ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา

บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) NER เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราขั้นต้น เช่น ยางแผ่นรมควัน (RSS) ยางแท่ง (STR) และยางผสม (Mixtures Rubber) เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ค้าคนกลางทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ  จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างโรงงานใหม่ และปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ยางแท่ง และยางผสม ตลอดจนเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ฝ่ายวิจัยประเมินราคาเหมาะสมสำหรับปี 62 อยู่ที่ 4 บาท

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

  • NER ผู้ผลิตและส่งออกยางพารา : ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราขั้นต้นซึ่งมี 3 ผลิตภัณฑ์ได้แก่ 1) ยางแผ่นรมควัน สัดส่วน 37% ของรายได้รวม 2) ยางแท่ง สัดส่วน 32% และ 3) ยางผสม สัดส่วน 31% จัดจำหน่ายในประเทศ 60% และส่งออก 40% ลูกค้าเป็นกลุ่มพ่อค้าคนกลางและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป อาทิ ยางรถยนต์ สายพาน ท่อน้ำ อะไหล่รถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และยางรัดของเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ทั้งนี้ สถาบัน International Rubber Study Group – IRSG คาดการณ์ปริมาณการใช้ยางพาราโลกเติบโตช่วงปี 2561-2562 เฉลี่ยปีละ 2.8% ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกยางพาราไทย (ที่มา : ธปท.)  ขณะที่การผลิตรถยนต์ภายในประเทศในช่วง 9M61 เติบโต 17.61% (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) เป็นปัจจัยสนับสนุนยอดขายของบริษัท ปี 2558-2560 รายได้ของบริษัทเติบโตเฉลี่ยปีละ 50%  จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคายางพารา และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ  งวด 6M61 มียอดขาย 3,971 ล้านบาท เติบโต 4% และมีกำไรสุทธิ 164 ล้านบาทพลิกจากขาดทุน 8 ล้านบาทในงวด 6M60
  • คาดกำไรปี 2561 – 2562 เติบโตเฉลี่ย 16% : ฝ่ายวิจัยประเมินอัตราการเติบโตเฉลี่ยของกำไรสุทธิ (CAGR) ระหว่างปี 2561 – 2562 ราว 16% ฝ่ายวิจัยคาดยอดขายปี 2561 ราว 8.9 พันล้านบาท ลดลง 9% และคาดกำไรปี 61 อยู่ที่ราว 308 ล้านบาท เติบโต 37%  บนสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับดีขึ้นสู่ 9.8% จาก 7% ในปี 2560 และในปี 2562 บริษัทมีแผนนำเงินทุนจาก IPO มาใช้ปรับปรุงเครื่องจักรของยางผสมซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นตันต่อปี  ฝ่ายวิจัยคาดการณ์รายได้ปี 2562 จะพลิกเติบโต 45% และคาดการณ์กำไรปี 2562 จะเติบโตราว 48% สู่ 455 ล้านบาท ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2563 จากแผนสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมเพิ่มอีก 1 โรงซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 172,800 ตันต่อปีนับเป็น 2 เท่าจากกำลังการผลิตในปัจจุบัน
  • การประเมินมูลค่าหุ้น : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี PER อิง Prospect PER ที่ระดับ 13.5 เท่าซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 12.43 เท่า  โดยประเมินกำไรต่อหุ้นปี 2562 ราวหุ้นละ 0.3 บาท ได้ราคาเหมาะสมเท่ากับ 4 บาทสำหรับปี 2562

ปัจจัยเสี่ยง 1) ความผันผวนของราคายางพาราโลก  2) การไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับลูกค้าบางราย และลูกค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา  3) อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน