ถอดสมการ AGE & BANPU ธุรกิจถ่านหิน“คัมแบ็ค”

ถอดสมการ AGE & BANPU ธุรกิจถ่านหิน“คัมแบ็ค”

เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกโตไม่หยุด ผลักดันการใช้พลังงานขยายตัวต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ“ถ่านหิน” 2 เอกชนไทย “AGE & BANPU” รุกหนักใส่เกียร์เดินหน้า สร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ขานรับอุตสาหกรรมกลับมาสดใส...!!

สัญญาณหมดยุคขาลงกำลังส่องสว่างไปที่ อุตสาหกรรมถ่านหิน สอดคล้องกับภาพรวมราคาถ่านหินและความต้องการ (ดีมานด์) ที่มีแนวโน้มเป็น บวก ต่อเนื่อง โดยราคาถ่านหินขยับขึ้นมาเป็นตัวเลขสามหลักติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือนอีกครา จากปีก่อนที่ราคาอยู่ที่เลขสองหลักราว 60-70 ดอลลาร์ต่อตัน !!

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผลการดำเนินงานบริษัทดำเนินธุรกิจนี้ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) จนถึงไตรมาส 2 ปี 2561 ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดย บมจ. บ้านปู หรือBANPU มีผลประกอบการ กำไรสุทธิ” อยู่ที่ -1,534.25 ล้านบาท 1,677.12 ล้านบาท 7,900.24 ล้านบาท และ 2,708.46 ล้านบาท ขณะที่ บมจ. เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE มีกำไรสุทธิ 110.49 ล้านบาท 153.66 ล้านบาท 120.51 ล้านบาท และล่าสุด 78.62 ล้านบาท ตามลำดับ 

สอดคล้องกับ พนม ควรสถาพร ประธานกรรมการบริหาร AGE ผู้ประกอบธุรกิจถ่านหิน บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า ปัจจุบันในแง่ของ รายได้-กำไร ของผู้ประกอบธุรกิจถ่านหินกลับมาเป็นบวกแล้ว เนื่องจากภาพรวมธุรกิจถ่านหินยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยมองว่าจะยังโตติดต่อกันไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปีจากนี้ 

โดยช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.2561) ไทยมีความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น 11%  คิดเป็นการนำเข้ากว่า 17 ล้านตัน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าขยะหลายแห่ง ขณะที่ปัจจุบันราคาถ่านหินอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อตัน

อย่างไรก็ตาม พนม” มีมุมมองต่อความต้องการถ่านหินเฉพาะในไทยว่า จะเติบโตได้อีก 1-2 ปีจากนี้ เนื่องจากไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตรงกันข้ามกับ เวียดนาม ที่ประเมินว่าจะเป็นหมุดหมายใหม่ของบริษัท จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่อยู่ในระดับสูง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวไม่ต่ำกว่าระดับ 7% ต่อเนื่อง ที่สำคัญเวียดนามไม่มีการต่อต้านธุรกิจถ่านหินเหมือนในไทยที่กระแสต่อต้านรุนแรง

เขายังบอกด้วยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ของเวียดนาม ระบุว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมากกว่า 10 แห่งขึ้นไป ซึ่งแต่ละโรงไฟฟ้า จะมีกำลังการผลิตใน ระดับ 2,000-3,000 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะมีการลงทุนพลังงานทดแทน แต่ไม่เพียงพอกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นพลังงานหลักของประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ยังมีการประเมินกันว่า ในปี 2573 ประเทศเวียดนามจะนำเข้าถ่านหินประมาณ 100 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว” จากปัจจุบันมีการนำเข้าถ่านหินอยู่ที่ 20 ล้านตันต่อปี 

ตลาดเวียดนามกำลังเป็นอนาคตใหม่ของเรา โดยความต้องการด้านพลังงานขยายตัวสูงตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หากลองสังเกตจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไทย เข้าไปลงทุนด้านพลังงานในเวียดนาม ทั้งพลังงานทดแทนแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้ถ่านหินในกลุ่มอาเซียนทั้ง เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และกัมพูชา  ที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นหลายแห่ง

ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการส่งออกถ่านหินในอาเซียนมากขึ้น จากปัจจบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ในไทย 80% และต่างประเทศราว 20% แต่อีก 3-5 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศเป็น 50% เท่ากับสัดส่วนรายได้ในประเทศ

โดยแผนธุรกิจปี 2562 ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย กรีนฯ บอกว่า จะลงทุนขยายคลังถ่านหิน และโรงร่อน เฟส 2 ในเวียดนาม ซึ่งจะสามารถเก็บปริมาณถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก แสนตันต่อปี จากปัจจุบันเฟสแรกคลังถ่านหินสามารถเก็บถ่านหินได้ประมาณ แสนตันต่อปี คาดว่าจะเสร็จไตรมาส 2 ปี 2562 และยอดขายจะเพิ่มขึ้น เท่าตัว

นอกจากนี้ บริษัทกำลังขยายตลาดเข้าไปในกัมพูชามากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้เข้าไปจำหน่ายถ่านหิน แต่ยังไม่มาก ทว่าปัจจุบันความต้องการขยายตัวมาก เนื่องจากกัมพูชามีเศรษฐกิจเติบโตมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนจีน

ขณะที่ ในไทยบริษัทจะขยายโรงร่อนแห่งที่ 4 เพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่เติบโต ซึ่งปัจจุบันบริษัทจะเพิ่มยอดขายอีก เท่าตัว ก็ทำได้อยู่แล้ว จากศักยภาพและมีการทำตลาด เขาระบุเช่นนั้น

ตอนนี้เราเป็นผู้ประกอบธุรกิจถ่านหินในแง่ของเทรดดิ้ง (ซื้อมาขายไป) รายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งในปีนี้มีรายได้และกำไรสูงสุด (New High) ในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จากลูกค้าและคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้น และยังมียอดขายต่างประเทศเข้ามาเสริม

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ทุกปี จากปัจจัยบวกทั้งความต้องการถ่านหินเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง โดยหลายสำนักเศรษฐกิจของไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% ขึ้นไป

หุ้นใหญ่ AGE” บอกต่อว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังโฟกัส นั่นคือ ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเพิ่งเริ่มลงทุนเมื่อปีที่แล้ว โดยปัจจุบันบริษัทมีรถบรรทุกสินขนส่งสินค้าจำนวน 30 คัน และมีเรือขนสินค้าได้ครั้งละ 2,600 ตัน จำนวน 12 ลำ และในปีหน้าจะลงทุนซื้อเรือเพิ่มอีก 12 ลำ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสั่งต่อเรือ) รวมเป็น 24 ลำ รวมถึงท่าเรือ และคลังสินค้า

โลจิสติกส์ของเรามีตั้งแต่รับขนสินค้า , ฝากสินค้า , กระจายสินค้า ,ดูแลสินค้า และท้ายสุดกระจายสินค้าต่อให้ลูกค้า ซึ่งบริษัทสามารถบริหารจัดการให้ลูกค้าได้ครบวงจร เช่น ลูกค้าสั่งถ่านหินมา 10,000 ตัน แต่ต้องการใช้ถ่านหินวันละ 2,000 ตัน บริษัทจะเป็นผู้บริหารจัดการให้กับลูกค้า ซึ่งบริษัทจะมีรายได้จากค่าบริหารจัดการดังกล่าว"

โดยปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 5% ในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10% ของรายได้รวม ลูกค้าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการปูนซีเมนต์ทั้งรายเล็กและใหญ่

รายได้ทั้งธุรกิจถ่านหินในและต่างประเทศ รวมทั้งรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์ คาดว่าปี 2563 จะมีรายได้มากกว่า หมื่นล้านบาทถือเป็นรายได้สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเขาบอกเช่นนั้น

พนม ยังบอกด้วยว่า บริษัทยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และคุณภาพของถ่านหิน ทำให้การลงทุนคลังถ่านหิน หรือ ท่าเรือ สิ่งแรกที่จะคำนึงถึงมากที่สุดคือสิ่งแวดล้อม โดยในพื้นที่คลังถ่านหินของบริษัทจะมีต้นไม้ปลูกอยู่จำนวนมาก โดยเวลาทำคลังเก็บถ่านหิน จะทำคันดินล้อมรอบและบนคันดินก็จะปลูกต้นไม้เพื่อไม่ให้กระทบชาวบ้านรอบๆ คลัง

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เพราะหากชาวบ้านมาประท้วงปิดคลังถ่านหินก็จะกระทบลูกค้าด้วย ทำให้บริษัทไม่สามารถส่งถ่านหินให้ลูกค้าได้ ดังนั้นการที่บริษัทพยายามดูแลเรื่องสิ่งแวดลัอมทำมาตลอด ส่งผลทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการนำบริษัทย้ายไปซื้อขาย (เทรด) ในตลาด SET จากปัจจุบันอยู่ในตลาด mai ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ก่อนจะยื่นเรื่องต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขั้นตอนต่อไป

ด้าน สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู หรือ BANPU  พี่ใหญ่วงการถ่านหินในไทย ประเมินภาพรวมธุรกิจถ่านหินในปี 2561 ว่า ทิศทางเป็น บวก โดยในครึ่งปีแรกความต้องการใช้ถ่านหินจากจีนและอินเดียเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณถ่านหินผลิตออกมาได้น้อยลง เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ เกิดภาวะฝนตกหนัก ทำให้การผลิตถ่านหินลดลง ด้านออสเตรเลียอีกแหล่งผลิตถ่านหินสำคัญ หยุดซ่อมแซมท่าเรือ และอุปกรณ์ ส่งผลให้ปริมาณถ่านหินลดลงเช่นกัน แต่ความต้องการถ่านหินเพิ่มขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ราคาถ่านหิน “ครึ่งปีหลัง” ยังเป็นบวกต่อเนื่อง เนื่องจากจีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย มีความต้องการใช้ต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ถ่านหินยังคงแข็งแกร่ง โดยราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 119 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ราคาถ่านหินอยู่ในระดับ 60-70 ดอลลาร์ต่อตัน

ขณะที่ปี 2561 เป็นปีแรกที่บ้านปูขายถ่านหินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ประเทศเวียดนาม โดยครึ่งปีที่ผ่านมาขายถ่านหินไปแล้ว 1 ล้านตัน โดยซื้อถ่านหินจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ส่งเข้าไปขายในเวียดนามซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ โดยปีนี้ตั้งเป้าขายถ่านหินราว 3.5 ล้านตันในเวียดนามและจีน

ซีอีโอบ้านปู  ยังบอกอีกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 25% จากราคาขายถ่านหินที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยราคาถ่านหินตลาดโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ในระดับที่เกิน 100 ดอลลาร์ต่อตัน และยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะผลักดันให้ราคาขายถ่านหินของบริษัทในปีนี้เพิ่มขึ้น แม้ว่าเป้าหมายปริมาณการขายถ่านหินจากเหมืองในจีน , อินโดนีเซีย และออสเตรเลียในปีนี้จะอยู่ในระดับ 45 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ก็ตาม

สำหรับปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายการขายถ่านหินจากเหมืองในออสเตรเลีย 15 ล้านตัน ปัจจุบันได้ขายไปแล้ว 99% ซึ่งในส่วนนี้กำหนดราคาแล้ว 75% และยังคงเหลืออีกราว 25-26% ที่ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย

ดังนั้น หากราคาขายถ่านหินปรับขึ้นได้อีกก็จะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ ส่วนเป้าหมายการขายถ่านหินในอินโดนีเซียปีนี้ที่ 26 ล้านตันนั้น ขายล่วงหน้าไปแล้ว 88% โดยในส่วน 26 ล้านตัน ยังไม่ได้กำหนดราคาขาย 43% ก็จะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์หากราคาถ่านหินปรับตัวขึ้น แต่หากราคาไม่ได้ปรับขึ้น บริษัทก็จะไม่เสียประโยชน์เพราะว่าได้กำหนดราคาขายล่วงหน้าแล้วเป็นส่วนใหญ่

"ทิศทางถ่านหินยังเป็น positive outlook ในปี 2561 จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชียแปซิฟิก"

ทั้งนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในเหมืองถ่านหินใหม่เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5 เหมืองในอินโดนีเซีย และ 5 เหมืองในออสเตรเลีย ขณะที่ถือหุ้นบางส่วนของเหมืองในจีน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินให้อยู่ในระดับ 15 ปีจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 12 ปี โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในอินโดนีเซีย ในปลายปีนี้หรือปีหน้า

ทั้งนี้ ยังได้เพิ่มงบลงทุนในปีนี้เป็น 600 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 182 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันได้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 180 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนที่เหลือ 120 ล้านดอลลาร์ จะใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้า ,ถ่านหิน และธุรกิจพลังงานทางเลือก (Energy Technology Solution: ETS) ขณะที่อีก 300 ล้านดอลลาร์ จะใช้รองรับการลงทุนในธุรกิจ shale gas ที่ยังอยู่ระหว่างการมองหาโอกาสการลงทุนต่อเนื่อง หลังจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาของ shale gas นับว่าดีต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เข้ามาที่บริษัทราว 40 ล้านดอลลาร์

---------------------------

โบรกมอง “ถ่านหินฟื้นตัว

อาภาภรณ์ แสวงพรรค บริษัทหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส บอกว่า โดยปกติแล้วในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูกาลผลิตถ่านหินในอินโดนีเซียเพราะเป็นฤดูแล้ง ปริมาณการผลิตเหมืองจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาถ่านหินก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยราคาเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ปี 2561 เพิ่มกว่า 20% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และกว่า 10% จากไตรมาสก่อน เป็นประมาณ 110 ดอลลาร์ต่อตัน

สำหรับในเชิงกลยุทธ์แนะนำ ซื้อเก็งกำไร หุ้น บ้านปู (BANPU) โดยมองว่าผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2561 มีโอกาสขยายตัวจากปริมาณและราคาขายที่เพิ่มจากไตรมาสก่อน และ ช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับการวิเคราะห์เทคนิค แนะนำซื้อเมื่อราคาหุ้นยืนเหนือ 20 บาท โดยมีแนวต้านระยะสั้น 21, 22.50 บาท ต่ำกว่า 20 ให้ “ Wait & See” เพราะมีสิทธิลงมาพื้นที่แนวรับ 19-18 บาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดธุรกิจ shale gas ในสหรัฐจะทำ EBITDA ราว 80 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกธุรกิจ shale gas ในรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐที่มี 6 แหล่งทำ EBITDA แล้ว 40 ล้านดอลลาร์ และแนวโน้มครึ่งปีหลังยังไปได้ดี โดยบริษัทได้ลงทุนในแหล่งก๊าซนี้ไป 522 ล้านดอลลาร์ เมื่อพิจารณาจาก EBITDA ที่จะได้ในปีนี้ก็มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 7 ปี

สำหรับเป้าหมายโครงสร้างกำไรในปี 63 คาดว่า EBITDA หลักยังมาจากถ่านหิน 66%, ไฟฟ้ากว่า 20%, ก๊าซ 8%, และพลังงานทางเลือกเล็กน้อย ตามลำดับ

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)” ระบุว่า มองภาวะตลาดถ่านหินยังแข็งแกร่ง หนุนจากอุปทานที่ตึงตัวทั้งในจีนและอินเดียทำให้ราคาถ่านหินทรงตัวในระดับสูง สะท้อนผ่านการวางเป้าหมายของ BANPU ตั้งเป้าผลิตถ่านหินไตรมาส 3/61 เพิ่มเป็น 9.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อน และ 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตในเหมืองที่อินโดนีเซีย 6.1 ล้านตัน และเหมืองที่ออสเตรเลีย 3.2 ล้านตัน และปรับเพิ่มเป้ายอดขายปี 2561 ของเหมืองที่ออสเตรเลียเป็น 14.4 ล้านตัน จาก 14.1 ล้านตัน

ขณะที่ BANPU เดินหน้ากลยุทธ์ขยายเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน EBITDA ธุรกิจ Non-coal จาก 25% ในปัจจุบันเป็นมากกว่า 50% ในปี 2568

นอกจากนี้ บริษัทประกาศซื้อเหมืองถ่านหิน Nusa Perdana Resources (NPR) หนุนการผลิต 2-3 ล้านตัน/ปี และปริมาณสำรองอีก 77 ล้านตัน คาดเริ่มผลิตปี 2565 โดยมีจุดเด่นจากมูลค่าลงทุนที่ต่ำ และที่ตั้งสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานกับเหมืองใกล้เคียง