'หุ่นยนต์ดินสอ' แอดว้านซ์ ติดเอไอดมกลิ่นมะเร็ง

'หุ่นยนต์ดินสอ' แอดว้านซ์ ติดเอไอดมกลิ่นมะเร็ง

อัพเดต “ดินสอ” หุ่นยนต์สัญชาติไทยในขวบปีที่ 10 เตรียมเพิ่มเซ็นเซอร์ดมกลิ่น ช่วยดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้นในอีกระดับหนึ่ง รวมถึงการดมกลิ่นโรคจากลมหายใจ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับ 2 โรคคือ มะเร็งปอดและมะเร็งตับ

เฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด แชร์ไอเดียที่จะพัฒนาเพื่อยกระดับหุ่นยนต์ดินสอมินิ ในงานไทยแลนด์แล็บอินเตอร์เนชั่นแนล 2018 โดยมีทั้งส่วนที่ “สนใจ” และส่วนที่ได้ “ลงมือ” พัฒนาแล้ว ในเบื้องต้นทางด้านกายภาพอาจจะเห็นดินสอมินิ เวอร์ชั่น 4 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะสามารถเคลื่อนที่ได้เพื่อติดตามดูแลได้ทุกพื้นที่โดยไม่คลาดสายตา โดยเฉพาะในห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำซึ่งเป็นจุดเสี่ยงสูงที่จะล้ม โดยตั้งเป้าไกลถึงให้ไต่ขึ้นลงบันไดได้ด้วย

ทางด้านทักษะความสามารถนั้นโดยหลักก็จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ในด้านต่างๆ เริ่มจากเซ็นเซอร์ดมกลิ่น เช่น ดมกลิ่นแล้วเตือนเมื่อต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ดมกลิ่นลมหายใจวินิจฉัยมะเร็งปอด มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งตับและวัณโรค โดยมีผลงานวิจัยรองรับทั้งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์มะเร็งอุดรธานี

ขณะที่ส่วนของมือหุ่นยนต์จะติดตั้งหูฟังแพทย์ (Stethoscope) สำหรับฟังจังหวะการเต้นของหัวใจหรือจับสัญญาณความผิดปกติจากจังหวะการหายใจ ซึ่งส่วนนี้นอกจากจะดูแลคนป่วยที่บ้านแล้ว ยังมองการใช้งานถึงการช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉิน อาการป่วยกำเริบหรือผิดปกติขณะรอคิวพบแพทย์ เพื่อแยกออกมารับการรักษาได้โดยเร็ว

“ดินสอมินิเวอร์ชั่น 4 นอกจากจะติดตั้งเอไอ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีระบบการทำงานเชื่อมต่อสมาร์ทโฮมของเอสซีจี ซึ่งมีความร่วมมือกันในการพัฒนาเชื่อมโยงระบบ เพื่อให้หุ่นยนต์ที่รับรู้ความรู้สึกร้อนหรือหนาวของคุณยาย สามารถส่งข้อมูลบอกให้เซ็นเซอร์ในบ้านสั่งเปิดหรือปิดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในเชิงการแพทย์นั้น เฉลิมพลโฟกัสไปที่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองซึ่งมักจะมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตร่วมด้วย อีกทั้งมีลักษณะอาการเฉพาะที่ต้องดูแลพิเศษ เช่น ชักเกร็ง โดยร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการออกแบบให้หุ่นยนต์เป็นสื่อกลางระหว่างคนไข้กับแพทย์เพื่อให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้น

“นำร่อง 8 ตัวที่ศูนย์ความเป็นเลิศฯ ทำหน้าที่ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยแพทย์ติดตามอาการต่อเนื่อง จับความเคื่อนไหวหากผู้ป่วยหายจากเตียงหรือพลัดตกเตียง ทั้งยังแพทย์สามารถให้คำแนะนำทางการรักษาเบื้องต้นได้ เช่น ชักเกร็งแล้วจะแก้ไขอย่างไร ตลอดจนคลายเครียดด้วยบทเพลง ฟังธรรม จูงใจให้ทำกายภาพและอนาคตจะสามารถประเมินดูแลผู้ป่วยได้รอบด้านมากขึ้น”

สถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมผู้สูงอายุ ขณะที่การตรวจวินิจฉัยรวมทั้งการดูแลรักษาจะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งยังขาดแคลนและหายากโดยเฉพาะในโรงพยาบาลลูกข่ายหรือโรงพยาบาลระดับอำเภอ จึงคาดหวังให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ดินสอจะลดช่องว่างปัญหาตรงนี้ได้