'อย.-พาณิชย์' ยันน้ำปลาไทย ไม่ถูกอเมริกาแบน

'อย.-พาณิชย์' ยันน้ำปลาไทย ไม่ถูกอเมริกาแบน

อย.-พาณิชย์ประสานเสียงยันน้ำปลาไทยไม่ได้ถูกอเมริกาแบน ระบุมีเพียง 1 ยี่ห้อถูกเรียกเอกสารกระบวนการผลิตเพิ่มเท่านั้น

วันนี้(24 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปร่วมกันแถลงข่าว ข้อเท็จจริงกรณีที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกรณีน้ำปลาไทยถูกประเทศสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามนำเข้า โดยนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ได้กำกับดูแลการผลิตน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทยทั้งก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (มาตรฐาน GMP)


ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องการควบคุมคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การควบคุมกระบวนการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีคุณภาพ มาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่อง น้ำปลา โดยต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) โดยเมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขโดย อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม และสารพิษโบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลา รวม 48 ตัวอย่างรวมยี่ห้อที่ถูกสหรัฐอเมริกาขอตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมด้วย ผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาทุกตัวอย่าง จึงขอให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำปลาที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศไทย


นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเตรียมหลักฐานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเด็นการตรวจพบความไม่ปลอดภัยของน้ำปลาจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อย. จะเชิญผู้ประกอบการตามที่เป็นข่าวมาหารือและชี้แจงในประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำปลา และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจกับองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ U.S.FDA เรื่องความปลอดภัยในกระบวนการผลิตน้ำปลาของประเทศไทยต่อไป


ทั้งนี้ อย. จะทบทวนมาตรฐานน้ำปลาทั้งในเรื่องมาตรฐานจุลินทรีย์ สารปนเปื้อนบางชนิด และมาตรฐานอื่น ๆ ผ่านคณะทำงานวิชาการเพื่อให้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น และยินดีให้ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้น้ำปลาไทยสามารถส่งออกและสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศต่อไปได้


“กรณีที่มีการระบุว่ามีการตรวจพบสารก่อมะเร็งในน้ำปลาไทยนั้น ข้อเท็จจริงคือมีข้อมูลวิชาการระบุว่าฮีสตามีนอาจก่อมะเร็งได้ แต่จะต้องได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเหมือนการดื่มเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งขณะนี้อย.ไทยยังไม่มีข้อมูลว่าน้ำปลาไทยจะก่อมะเร็ง เนื่องจากในน้ำปลามีฮีสตามีนอยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆและไม่เคยมีรายงานว่าเกิดมะเร็งจากการกินน้ำปลา”นพ.พูลลาภกล่าว


ด้านนายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการตรวจสอบน้ำปลาไทยและมีการพบกรณีที่มีข้อกังวลเพียง 4 ครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.2561 โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ U.S.FDA ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและวัตถุดิบของน้ำปลา 1 ยี่ห้อ ไม่ได้เป็นการห้ามนำเข้าหรือกักกันการนำเข้าแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อเดือนส.ค.2561 คาดว่าU.S.FDAจะใช้เวลาในการพิจารณาและตอบกลับมายังประเทศไทยภายในเดือนพ.ย.2561นี้ หากการชี้แจงเป็นที่น่าพอใจ น้ำปลายี่ห้อดังกล่าวก็จะสามารถส่งออกไปอเมริกาได้เหมืนเดิม ซึ่งกระบวนการตรวจสอบสินค้านำเข้าเช่นนี้เป็นปกติของทุกประเทศ หากมีข้อสงสัยก็จะให้ประเทศต้นทางชี้แจงเพิ่มเติม
“ยืนยันว่าขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการห้ามนำเข้าหรือแบนน้ำปลาจากประเทซไทย ในส่วนของน้ำปลายี่ห้ออื่นยังสามารถขายเข้าไปได้ ส่วนยี่ห้อที่ถูกตรวจสอบหากเอกสารที่ชี้แจงไปชัดเจน ก็จะสามารขายเข้าไปได้เหมือนเดิม ซึ่งประเทศไทยมีการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกมีส่วนแบ่งการตลาด 30 % ใกล้เคียงกับฮ่องกง มูลค่าส่งออกช่วง 9 เดือนของปี 2561 อยู่ที่ 44 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดสำคัญ ประมาณ 20 % ของการส่งออก มูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดประเทศญี่ปุ่นมีการโตอย่างมาก และประเทศในกลุ่มอาเซียนก็เป็นลูกค้าหลัก แต่ตัวเลขการส่งออกตั้งแต่ 2558 ค่อนข้างคงที่”นายวิทยากรกล่าว


นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า น้ำปลาไทยผลิตได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหารโคเด็กซ์(Codex) ซึ่งยี่ห้อที่สหรัฐอเมริกากักเพื่อตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมเป็นเพียงล็อตเดียว ซึ่งแต่ละเดือนสหรัฐฯมีการกัดสินค้าเพื่อตรวจสอบนับพันรายการ ส่วนของประเทศไทยมีแค่น้ำปลาและเป็นเรื่องเอกสาร ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตน้ำปลา ประเทศไทยจะใช้วิธีการหมัก แต่สหรัฐฯกำหนดให้ต้องต้มก่อน จึงเป็นนวัตกรรมที่ผู้ผลิตน้ำปลาต้องพัฒนาเพื่อไม่ให้การต้มทำให้รสชาติ กลิ่นและสีแตกต่างไปจากเดิม ผู้ผลิตจึงมี 2 ทางเลือก คือ ต้มตามข้อกำหนดของสหรัฐฯ และหากไม่ต้องการให้เสียชื่อเสียงของยี่ห้อที่สั่งสมมานาน ก็ออกยี่ห้อสำรองเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯโดยเฉพาะ


“ประเทศไทยผลิตน้ำปลาด้วยการหมักมากว่า 100 ปี เพิ่งมีเมื่อ 3-4 ปีก่อนที่สหรัฐอเมริการะบุให้น้ำปลาที่จะนำเข้าได้ต้องต้มก่อน สมาคมฯได้มีการชี้แจงให้ข้อมูลไปว่าการถนอมอาหารมีได้หลายรูปแบบไม่ใช่แค่ต้ม อาจจะหมักเกลือหรือน้ำตาลก็ได้ และหวังว่าจะมีการยอมรับวิธีการของเรา แต่เมื่อยังไม่มีเอกสารยอมรับในเรื่องผู้ที่จะส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐฯก็จะต้องต้อมก่อน”นายวิศิษฐ์กล่าว