พาณิชย์แจง 'น้ำปลาไทย' แค่ถูกเอฟดีเอ เตือนไม่ใช่ห้ามนำเข้าสหรัฐ

พาณิชย์แจง 'น้ำปลาไทย' แค่ถูกเอฟดีเอ เตือนไม่ใช่ห้ามนำเข้าสหรัฐ

กรมการค้าต่างประเทศแจงกระทรวงพาณิชย์ แจง "น้ำปลาไทย" ถูกเอฟดีเอสหรัฐออกคำเตือนบัญชีแจ้งเตือนสินค้าที่ถูกกันกันการน้ำเข้า ตามระเบียบ21 CFR Part 123 เพื่อตรวจสอบการผลิต หากแก้ไขได้ก็สามารถนำเข้าได้ตามปกติ เผยการส่งออกน้ำปลายังโตต่อเนื่อง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยบางยี่ห้อนั้น ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ตั้งแต่ปี 2553 โดยเกิดขึ้นกับน้ำปลาตราคนแบกกุ้ง เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีกฎระเบียบ 21 CFR Part 123 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 18 ธ.ค. 2540 ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปลา และการประมงทุกอย่างทั้งที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศหรือในสหรัฐต้องได้รับการจัดเตรียม บรรจุและเก็บรักษาให้เป็นไปตามข้อกำหนด HACCP หากผู้ผลิตรายใดไม่ปฏิบัติตามอาจถูกกักกันการนำเข้าสินค้าโดยไม่ต้องมีการตรวจตัวสินค้าจนกว่าจะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามข้อแนะนำของการแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 ทาง FDA ได้ออกคำเตือนในบัญชีแจ้งเตือนสินค้าที่ถูกกักกันการนำเข้า หรือ Import Alert 16-120 กับน้ำปลาตราปลาหมึก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. อยู่ในระหว่างการช่วยเหลือเอกชน และเจรจาผลักดันให้ FDA ยกเลิกหรือผ่อนผันการกักสินค้าน้ำปลาจากผู้ประกอบไทย โดยผู้ประกอบการยินดีให้มีการตรวจสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนตามที่กังวล

นอกจาก น้ำปลาตราปลาหมึกที่ถูกแจ้งเตือนแล้วยังมีน้ำปลาอีก 3 ยี่ห้อ ถูกเตือนเช่นเดียวกัน ได้แก่ น้ำปลาตราพูนสิน ทิพรส ซึ่งถูกเตือนตั้งแต่ปี 2557 ส่วน ไซ่ง่อน ยี่ห้อนี้ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 นอกจากน้ำปลาไทยแล้ว ยังมีน้ำปลาที่ผลิตจากเวียดนาม 1 ราย คือ ตันฮา ฟิซซอส (Thanh Ha Fish Sauce) ซึ่งถูกเตือนตั้งแต่ 12 ม.ค.2561ซึ่งการแจ้งเตือนของ FDA ส่งผลให้น้ำปลายี่ห้อที่ถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้ในขณะนี้จนกว่าจะมีการนำเอกสารชี้แจงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย

นายอดุลย์ กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะโดนเตือนแต่การส่งออกน้ำปลายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกน้ำปลาที่ใหญ่ที่สุดของไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 22-24 อย่างไรก็ไม่ต้องกังวลน้ำปลาขาดแคลน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐมากกว่า 10 ยี่ห้อ

ทั้งนี้ พบว่าการส่งออกน้ำปลาไทยมีการเติบโตต่อเนื่องตั้งปี 2557 โดยส่งออกได้ 10,927 ตัน มูลค่า 372 ล้านบาท , ปี 2558 ส่งออกได้ 11,166 ตัน มูลค่า 390 ล้านบาท , ปี 2559 ส่งออกได้ 12,648 ตัน มูลค่า 479 ล้านบาท มีเพียงปี 2560 ที่ส่งออกลดลง 10,732 ตัน มูลค่า 395 ล้านตัน เพราะอเมริกาลดการนำเข้าทุกประเทศส่วนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 ไทยสามารถส่งออกได้ปริมาณ 6,199 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.38 ส่วนมูลค่าอยู่ที่กว่า 231 ล้านบาท