มข.คิดนวัตกรรมตอบเทรนด์สูงวัย

มข.คิดนวัตกรรมตอบเทรนด์สูงวัย

มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำเสนอ 3 งานวิจัยเด่นตอบโจทย์สังคมสูงอายุ หมอนรักษ์หลัง เตียงนวดดึงหลังและอุปกรณ์ช่วยเดิน หวังจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการต่อยอดออกสู่ตลาด

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นำเสนอ 3 งานวิจัยเด่นตอบโจทย์สังคมสูงอายุ หมอนรักษ์หลัง เตียงนวดดึงหลังและอุปกรณ์ช่วยเดิน หวังจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการต่อยอดออกสู่ตลาด

จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนต่อยอดผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้าง โดยผลักดันการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยจำนวนมาก ล่าสุด สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ ม.ขอนแก่น ได้นำเสนอ 3 ผลงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ Business matching ระหว่างนักวิจัยกับนักลงทุน 

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้กับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน ตอบรับนโยบายประเทศไทย 4.0

รองรับสังคมสูงวัย

เริ่มจาก “หมอนรักษ์หลัง” โดย รศ.รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล ได้ประดิษฐ์หมอนรองหลังเพื่อสุขภาพที่มีค่าความโค้งเหมาะกับแต่ละช่วงอายุของคนไทยทั้งเพศหญิงและเพศชาย วัยทำงานและผู้สูงอายุ จากการทดสอบใช้งานหมอนรองหลังร่วมกับการทำกายภาพ พบค่าเฉลี่ยอาการปวดและคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถนำไปใช้ป้องกันหรือรักษาอาการปวดหลังในพนักงานทุกอาชีพ เนื่องจากแนบติดหลังส่วนล่างของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา

หมอนรักษ์หลังนี้ผลิตจากวัสดุตามธรรมชาติ เช่น นุ่น จึงทำให้ระบายอากาศได้ดีและสามารถถอดซักทำความสะอาด นอกจากนี้ขณะที่สวมใส่ยังไม่รู้สึกเหมือนคนไข้เนื่องจากออกแบบไว้อย่างสวยงาม ผลการศึกษาพบว่า สามารถลดอาการปวด ลดภาวะทุพพลภาพ และเพิ่มคุณค่าชีวิตได้ดีกว่าเสื้อพยุงหลังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และที่สำคัญมีต้นทุนเพียง 100-150 บาทต่อใบ ตัดเย็บได้รวดเร็ว ผู้วิจัยได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วและพร้อมที่จะส่งต่อเทคโนโลยีให้ภาคธุรกิจเอกชนด้านการผลิตหมอนหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกหรือสินค้าโอท็อป

ถัดมาเป็น “เตียงนวดและดึงหลัง” พัฒนาโดย รศ.วิชัย อึงพินิจพงศ์ เป็นเตียงต้นแบบทําหน้าที่เป็นทั้งเตียงนวดและดึงหลังไปพร้อมๆ กัน วัตถุประสงค์เพื่อใช้บรรเทาอาการปวดหลังที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหลังเมื่อยล้าและมีภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยผู้วิจัยได้สร้างเตียงต้นแบบแล้วทดสอบประสิทธิภาพและความพึงพอใจของผู้ใช้ โดยให้อาสาสมัครคนปกติที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาทดลองใช้ประมาณ 15 นาที แล้วสอบถามความพึงพอใจและรับคําติชม พบว่ากว่า 70% มีความพึงพอใจ ขณะที่ค่าความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังและขาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ

สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเหมาะกับผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์หรือกายภาพบําบัด ที่จะนําเทคโนโลยีไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีอาการปวดหลังจากการทํางาน ซึ่งจากการสำรวจพบมีจำนวนประมาณ 30 ล้านคน ถัดมาจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

อุปกรณ์ช่วยเดินแบบ 3 ขา

ชิ้นที่สาม “อุปกรณ์ช่วยเดิน ” เป็นผลงาน รศ.พรรณี ปึงสุวรรณ มุ่งลดปัญหาการเดินช้าเพราะไม่ต้องออกแรงยกอุปกรณ์ขณะเดิน อีกทั้งสามารถเคลื่อนย้ายตัวได้คล่องขึ้น และมีความมั่นคงในการทรงตัวขณะก้าวขา ถ้าใช้อุปกรณ์ช่วยเดินแบบ 3 ขาที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้ จะทําให้เดินได้ไกลขึ้น เดินในช่องทางที่แคบได้ และพลังงานที่ใช้เดินอาจจะลดลงด้วย จึงเหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยปวดเข่า ปวดหลัง ปวดขา หรือผู้สูงอายุที่กลัวล้ม เด็กพัฒนาการเดินช้า ผู้ที่ต้องการหัดเดิน เป็นต้น

ส่วนสําคัญของการออกแบบอุปกรณ์นี้เน้นขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา สามารถพับเก็บและถือไปที่ต่างๆ ได้สะดวก เก็บโดยแขวนผนังหรือตั้งไว้ได้ สำหรับผู้ที่เหมาะนําเทคโนโลยีไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ คือผู้ประกอบการหรือโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสามารถนำไปเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วยปวดเข่า ปวดหลังและขา ผู้สูงอายุ หรือเด็กหรือผู้พิการและเด็กที่พิการทางสมอง