วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 ต.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 ต.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มต่อ หลังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียยังคงระอุ

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังหลายฝ่ายยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่จะขาดหายไปจากตะวันออกกลาง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านปรับลดลง

+ ประเด็นเรื่องการหายตัวไปของนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย ณ สถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังคงระอุ หลังนายลินเซย์ กราแฮม สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวหาว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารนายจามาล คือ มกุฎราชกุมาร โมฮัมเมด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบีย ซึ่งหากเป็นตามที่กล่าวหาจะส่งผลเลวร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม มกุฎราชกุมารฯ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการมีส่วนเกี่ยวข้องในการหายตัวไปของนายจามาลและตนจะขยายกำลังการสืบสวนเกี่ยวกับคดีนี้เพื่อให้ความจริงเปิดเผยโดยเร็ว

+ ภายหลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ สัปดาห์ก่อนหน้า ปรับลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 408.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล หลังการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของอุปทานที่มาจากตะวันออกกลางและแนวโน้มการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงกลั่นในญี่ปุ่นหลังประสบแผ่นดินไหวระดับ 6.7 ริกเตอร์ ขณะที่อุปสงค์ในเอเชียเบาบางตามฤดูกาล

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในเอเชียยังคงทรงตัวในระดับดี ในขณะที่อุปทานยังคงตึงตัวกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์จากการปิดซ่อมบำรุงในญี่ปุ่น อินเดีย และไต้หวัน

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

        ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

        ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 78-83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ภาวะตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค. ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากเดือน เม.ย. ที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงประจำฤดูกาลของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ

--------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999