'คมนาคม' ทุ่ม 6 พันล้านดันสถานีขนส่งสินค้า 6 จังหวัด

'คมนาคม' ทุ่ม 6 พันล้านดันสถานีขนส่งสินค้า 6 จังหวัด

“คมนาคม” อนุมัติให้กรมการขนส่งทางบกสร้างสถานีขนส่งสินค้าในภูมิภาค นำร่องหัวเมือง 6 แห่ง วงเงิน 6 พันล้านบาท สั่งศึกษาเปิดลงทุนรูปแบบพีพีพี สรุปแผนให้ชัดเจนภายใน ต.ค.นี้ ก่อนเสนอ ครม.

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค โดยระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนดำเนินโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal)ในภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์รวมขนส่งสินค้าแต่ละจังหวัด ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้เสนอมา 17 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.สถานีขนส่งสินค้าในเมืองชายแดน 9 แห่ง ได้แก่ จ.เชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา และนราธิวาส

2.สถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก 8 แห่ง ได้แก่ จ.เชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่องศึกษาและก่อสร้างในพื้นที่ 6 จังหวัด ที่ผลการศึกษาดูมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากที่สุดก่อน ได้แก่ เชียงใหม่, ขอนแก่น, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, มุกดาหาร และหนองคาย โดยใช้วงเงินลงทุนรวมกว่า 6,000 ล้านบาท โดยในที่ประชุมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกไปทบทวนรายละเอียดของแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 6 จังหวัดให้มีความชัดเจน ทั้งแผนการดำเนินโครงการ การเวนคืนที่ดิน กรอบเวลาการดำเนินงาน การจัดหางบประมาณ และการออกแบบก่อสร้าง โดยให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค.นี้ ก่อนส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

“เบื้องต้นสถานีขนส่งสินค้าทั้ง 6 แห่ง จะเป็นการบริหารงานในรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกเร่งศึกษาความเหมาะสมแล้ว" นายชัยวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมให้โจทย์สำคัญของสถานีขนส่งสินค้าจะต้องออกแบบคลังสินค้า และชานชาลาให้เหมาะสมกับวิธีการบริหารจัดการสินค้าของเอกชน อีกทั้งควรทำให้เชื่อมโยงไปยังท่าเรือบกของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสถานีบรรจุตู้สินค้าทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อบูรณาการการขนส่งสินค้าร่วมกันด้วย”

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีขนส่งสินค้าอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล และสถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ารถบรรทุกไปส่งสินค้ายังจุดหมายปลายทางต่างๆ แต่ขากลับส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวเปล่าวิ่งกลับกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 50% เพราะปลายทางไม่มีสถานีขนส่งสินค้า ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ทำลายสิ่งแวดล้อมและถนนก็พัง ดังนั้นการสร้างสถานีขนส่งสินค้าจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ