'กลุ่มบุญรอด' ปั้น BGC โกย'ความมั่งคั่ง' ครั้งใหม่

'กลุ่มบุญรอด' ปั้น BGC โกย'ความมั่งคั่ง' ครั้งใหม่

'กำลังผลิต-เพิ่มมูลค่า' เสิร์ฟดีมานด์ตลาดในและนอกประเทศ 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ 'บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส' เข้าซื้อขาย 18 ต.ค.นี้ 'ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร' มือปืนรับจ้างบริหาร ส่งซิก 'กลุ่มบุญรอด' เปิดทางโตทั้งตรงและอ้อม

'เทรนด์รักโลก ลดใช้ขวดพลาสติก' กำลังส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรีเทิร์น...!! บ่งชี้ผ่านกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว กลับมาใช้ผลิตภัณฑ์แก้วมากขึ้น และเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมแก้วในระยะยาว เนื่องจากผลิตภัณฑ์แก้วเป็นสินค้าอย่างเดียวที่นำกลับมา 'รีไซเคิล' (Recycle) ได้ทั้ง 100% โดยปัจจุบัน 'มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้ว' อยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 3-5% ทุกปี  

ถือเป็น 'ปัจจัยบวก' ต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 194.44 ล้านหุ้น คิดเป็น 28% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 10.20 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5.00 บาท

ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ของ 'ตระกูลภิรมย์ภักดี' ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับทัพองค์กร ล่าสุด เดินหน้าสร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ด้วยการผลักดัน บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 'บางกอกกล๊าส' ในสัดส่วน 72% (ตัวเลขหลังขายหุ้นไอพีโอ) 

ปัจจุบัน 'บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส' ดำเนินธุรกิจผู้ผลิต จัดจำหน่าย ส่งออก และนำเข้าบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของไทย โดยแบ่งเป็นบรรจุภัณฑ์แก้ว 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 'ขวดเบียร์' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 37.30% 'ขวดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์' (Soft Drinks) คิดเป็น 34.60% 'ขวดอาหาร' คิดเป็น 7.10% 'ขวดยาฆ่าแมลงและยา' คิดเป็น 1.2% และ 'ขวดผลิตภัณฑ์อื่นๆ' (เครื่องดื่มให้พลังงาน สุรา และสุราปรุงแต่งรสธรรมชาติ) คิดเป็น 17.5%   

'แก้ว-ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร' กรรมการผู้จัดการ บมจ. บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตนเองเข้ามานั่งทำงานครบ 1 ปี (เมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา) หลังตัดสินมาร่วมงานกับ BGC ตามคำชักชวนของ 'ปวิณ ภิรมย์ภักดี' เจเนอเรชั่นที่ 4 ของกลุ่ม 'บุญรอดบริวเวอรี่'  โดยรับโจทย์ใหญ่มาว่าต้อง 'ทำให้ธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี' นั่นคือ ธงผืนใหญ่ของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่...!!  

เขาถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจของ BGC ให้ฟังว่า บริษัทมีเป้าหมายโฟกัสเข้าไปใน 'กลุ่มผลิตภัณฑ์แก้วที่มีมูลค่าสูงขึ้น' (High Value) ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มราคาแพง อาทิ วิสกี้ , สุราราคาแพง , ซุปไก่ , รังนก เป็นต้น โดยสินค้า High Value ปัจจุบันมีผู้เล่นอยู่จำนวนน้อยราย เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ยากและซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ความชำนาญสูง  

ทั้งนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์แก้วราคาแพงเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตมากกว่าตลาดทั่วไป (Mate) 'ราว 50-100%' ซึ่งตลาดสินค้าพรีเมียมไม่ใช่มี 'ความต้องการ' (ดีมานด์) ในประเทศเท่านั้น แต่ดีมานด์ในต่างประเทศยังมีอีกมาก สะท้อนผ่านบริษัทส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปจำหน่ายในประเทศเวียดนาม 

ดังนั้น ในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ 'ตลาดส่งออก' มากขึ้นเป็น 10% จากปัจจุบันราว 7-8% และอีก 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) สัดส่วนรายได้ส่งออกจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 20%  

โดยปัจจุบันตลาดส่งออกของ BGC อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน (AEC) , ออสเตรเลีย , นิวซีแลนด์ และยุโรปตอนใต้ ซึ่งในปีหน้าบริษัทจะโฟกัสในตลาดดังกล่าวให้มากขึ้นเพื่อฐานลูกค้าให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทส่งออกไปตลาดดังกล่าวสัดส่วนยังน้อย และตอนนี้บริษัทจะมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายในแต่ละตลาดหลักๆ ล่าสุด บริษัทมีการตั้งตัวแทนจำหน่ายในตลาดเวียดนามแล้ว 

สอดคล้องกับการลงทุนขยายกำลังการผลิตใหม่เพิ่มที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 'โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและเตาหลอมแก้วแห่งใหม่' ที่จังหวัดราชบุรีเพิ่มอีก 1 เตา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2561 ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน 

โดยโรงงานแห่งใหม่ได้รับการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น นำระบบสื่อสารข้อมูลการผลิตแบบออนไลน์เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถผลิตสินค้าในปริมาณมากเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำสำหรับโรงงานแห่งใหม่ กำลังการผลิตส่วนใหญ่จะเน้นขายในตลาดส่งออก สะท้อนจากปีก่อนตัวเลขยอดขายส่งออกเติบโตระดับดีมาก 

'ที่ผ่านมากำลังการผลิตของบริษัทเสิร์ฟตลาดในประเทศเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้กำลังการผลิตของเราก็ตรึงๆ ตัวแล้ว แต่หลังจากมีโรงงานใหม่เราจะมีกำลังผลิตที่สามารถช่วยส่งออกได้มากขึ้น โดยยอดขายของบริษัทแบ่งเป็นขายให้กลุ่มบุญรอดฯ 58% ส่วนที่เหลือ 42% ขายในตลาดอื่นๆ แต่อนาคตต้องการยอดขายเป็น 50:50 เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้ารายเดียวมากเกินไป'

สำหรับรายได้ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 'ราว 3-5%' แต่ปีหน้าหลังจากที่บริษัทมีกำลังการผลิตโรงงานผลิตใหม่แล้ว บริษัทตั้งเป้าหมายต้องการเห็นรายได้เติบโตเป็นตัวเลข 'สองหลัก'  จากปีนี้ 

เขา บอกต่อว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนใน 'ธุรกิจต้นน้ำ' ยกตัวอย่าง ธุรกิจจำหน่ายเศษแก้ว ซึ่งตลาดจำหน่ายเศษแก้วปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งเศษแก้วถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักของการผลิตขวดแก้ว โดยเศษแก้วคิดเป็นสัดส่วน 70% ทราย 10-20% และเคมีภัณฑ์ 10%  

อย่างไรก็ตาม บางกอกกล๊าสซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ BGC ถือหุ้นใน บริษัท ทวีทรัพย์ จำกัด ในสัดส่วน 25% โดยทวีทรัพย์เป็นผู้ประกอบการซื้อขายเศษแก้วรายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งตอนนี้บริษัทแม่และ BGC กำลังศึกษาลงทุนในธุรกิจต้นน้ำ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2563  แต่สิ่งที่บริษัทจะไม่ทำคือ การถือหุ้น 100% เพราะว่าไม่อยากมีธุรกิจหลายอย่างที่เราต้องทำเองทั้งหมด  

'หากเรามีธุรกิจต้นน้ำ ถือเป็นการลดต้นทุน และปิดความเสี่ยงของธุรกิจในเรื่องไม่มีวัตถุดิบ เนื่องจากหากบริษัทไม่มีเศษแก้ว เราอาจจะต้องปิดเตาการผลิต' 

นอกจากนี้ 'ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วประเภทอื่นๆ' บริษัทก็สนใจและกำลังศึกษาในการลงทุนในโปรดักท์ใหม่ ซึ่งดูความเหมาะสมของการลงทุนทั้งในตลาดในและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจหลักของบริษัทได้ในรูปแบบเช่นไร 

'กรรมการผู้จัดการ' วิเคราะห์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเทรนด์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขันสูง (High barrier to entry) เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม โดยรายงาน GlobalData Plc ระบุว่า ภาพรวมการบริโภคในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในปี 2561-2565 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 6.7% ต่อปี และ 3.1% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วในอนาคต  

'อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเติบโตระดับดี เราก็จะเติบโตไปกับอุตสาหกรรมหลักของเราด้วย เพราะว่าผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นลูกค้าหลักของเรา'  

สำหรับ 'จุดแข็ง' ของ BGC คือ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย มีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน 

โดยบริษัทผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรวม 6 แห่ง มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3,095 ตันต่อวัน โดยมีโรงงานผลิตกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ การบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย 

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2561) มีกำไรสุทธิ 270.10 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมีกำไรสุทธิ 121.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนคงที่ลดลงจากการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานระยองที่ปิดตัว และย้ายไปยังเตาที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และบริษัทมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา 

ท้ายสุด 'ศิลปรัตน์' บอกว่า ในแผนธุรกิจเป้าหมายต้องการขยายตลาดส่งออกมากขึ้น เพิ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นการเติบโตแบบธรรมชาติ (Organic Growth) ด้วยกำลังผลิตของตัวเอง แต่ในแง่ของการเติบโตแบบ Non-organic นั้นอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม