กกต.สอบแกนนำเพื่อไทยบินพบ 'ทักษิณ'

กกต.สอบแกนนำเพื่อไทยบินพบ 'ทักษิณ'

กกต.รับลูกสอบข้อเท็จจริงปมแกนนำพท.บินพบ “ทักษิณ” ย้ำยังไม่มีตั้งทีมสอบยุบพรรค

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.61 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวกรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยบินไปหารือกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่เกาะฮ่องกงถึงการจัดทัพเลือกตั้งและการตั้งพรรคสำรองหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรค ว่า ตนได้สั่งการให้ทางสำนักงาน กกต.ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ เพราะขณะนี้ที่ปรากฏยังเป็นเพียงข่าว ยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ไปถึงขั้นครอบงำพรรค. อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯก็รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทุกเรื่องที่มีการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ ทั้งที่กล่าวหาว่ากลุ่มสามมิตรดูดอดีตส.ส. การเก็บบัตรประชาชน คลิปวีดีโอนายทักษิณชี้นำพรรคเพื่อไทย ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเติมถึงขั้นดำเนินการได้ ก็จะดำเนินการ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์. กล่าวถึงกรณีการตั้งพรรคสำรองของอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า. ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนดเพียงว่าการตั้งพรรคเป็นเสรีภาพ คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองรวมกัน 500 คน มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท มีข้อบังคับพรรคและอุดมการณ์ที่ไม่ขัดกฎหมาย หากมายื่นขอจัดตั้ง กกต.ก็ต้องดำเนินการให้ ตั้งแล้วจะสนับสนุนใครก็เป็นเรื่องแนวนโยบายของพรรค เหมือนที่บางพรรคประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกฯอีกครั้ง ซึ่งก็มีหลายพรรค และอยู่ที่ความนิยมชมชอบของประชาชน ส่วนพรรคจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ก็ต้องดูการดำเนินการของพรรคในอนาคต หากเกิดขึ้นก็ต้องมาว่ากันตามกฎหมาย

เลขาธิการกกต. กล่าวเตือน ถึงการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองในขณะนี้ว่า ต้องอยู่ภายในกรอบที่คำสั่งหัวหน้าคสช. 13/2561 อนุญาต ซึ่งสำนักงานกกต. พร้อมที่อำนวยความสะดวกให้ แต่ถ้านอกเหนือจากที่คำสั่งดังกล่าวอนุญาตต้องเข้าใจว่าคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มีผลบังคับใช้อยู่ หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องเข้าไปดูแล และมีโทษทางอาญาด้วย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวด้วยว่า สำนักงานฯได้มีปรับกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่มีการยื่นคำขอจัดตั้งพรรค เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่หากกลุ่มการเมืองซึ่งจะจัดตั้งพรรคการเมืองมีความประสงค์จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 62 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้นผู้ที่จะลงสมัครต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างช้าสุดคือวันที่ 26 พ.ย.นี้ ทางสำนักงานฯจึงปรับกรอบหลักเกณฑ์ฯดังกล่าวเพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานต่างๆ ที่แต่ละพรรคยื่นมารวดเร็วขึ้น ความเป็นพรรคจะได้สมบูรณ์ การสังกัดพรรคของสมาชิกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะได้ทันกับเวลาในการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าวอาจถูกมองว่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ได้รับการจดจัดตั้งพรรคเร็วขึ้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า กกต. อำนวยความสะดวกให้กับทุกกลุ่มการเมืองที่มายื่นจัดตั้ง แต่บางพรรครายชื่อผู้ก่อตั้ง 500คนที่เสนอมาเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นสมาชิกซ้ำซ้อนพรรคอื่น บางทีข้อบังคับพรรคก็ไม่สมบูรณ์ ก็จะให้แก้ไข ทำให้การรับรองจัดตั้งค่อนข้างล่าช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้การจดเร็วที่สุด ถ้ายื่นมา เอกสารหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ ตรวจแล้วไม่พบจุดบกพร่องอะไร ก็น่าจะได้รับการจดจัดตั้งเร็ว

"ตอนนี้ที่ขอจัดตั้งพรรคการเมืองมีอยู่ในมือ 25พรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองเพิ่งรับจดไป 9 พรรค ล่าสุดที่กกต.มีมติให้นายทะเบียนรับจดแจ้งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมาคือพรรคไทยธรรม เหลืออีก 16 พรรค ก็พยายามเร่งเรามองทุกพรรคเท่าเทียมกันหมด ไม่ได้เร่งเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง อีกทั้งการขอจัดตั้งพรรคคงไม่ได้มีแค่ 25 พรรคนี้ เพราะมีอีกหลายกลุ่มการเมืองที่มีการขออนุญาตคสช.จัดประชุมผู้ก่อตั้งเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค หลักเกณฑ์ที่ปรับจึงเป็นการเร่งรัดการทำงานของเราในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครมีความเป็นการเมืองที่สมบูรณ์ได้เร็วขึ้นจะได้ไปหาสมาชิกและสังกัดพรรคได้ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นับแต่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง ของกลุ่มการเมืองต่างๆตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการพรรคการเมือง 2560 สำนักงานกกต. ใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของทั้ง 9 พรรคไม่น้อยกว่า 90 วันจึงรับจดจัดตั้งให้ หากพรรคการเมืองใดมีปัญหาในเรื่องของผู้ก่อตั้งเป็นสมาชิกซ้ำซ้อน หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนไม่ตรงกับเอกสารที่ยื่นมาก็จะมีการประสานเป็นการภายในให้พรรคนั้นๆ มาแก้ไขโดยนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 17 วรรคสอง ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 60 ที่กำหนดว่า ให้นายทะเบียนฯแจ้งให้พรรคนั้นๆ แก้ไขเอกสาร หลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน60 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ หากพ้นเวลาดังกล่าวไม่มีการแก้ไขให้ครบถ้วนถูกต้องให้เสนอกกต.มีมติไม่รับจดทะเบียน เพราะหากใช้อำนาจดังกล่าวอาจจะต้องมีการดำเนินคดีกับพรรคที่ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องตามมาตรา 103 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของหลักเกณฑ์ใหม่นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต. ซึ่งรับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคเมือง ได้มีการเสนอที่ประชุม กกต.ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการจัดตั้งพรรคการเมืองภายใน 45 วันแบ่งเป็น 10 วันนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เช่นบัญชีผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรค เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และส่งหน่วยงานนอก 9 แห่งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ร่วมก่อตั้ง ระยะเวลา20 วันหลังตรวจสอบหน่วยงาน ให้ตรวจสอบข้อบังคับพรรค ทุนประเดิม รายงานการประชุมจัดตั้งพรรค ความซ้ำซ้อนของสมาชิก แจ้งพรรคการเมืองแก้ไขให้แล้วเสร็จ ระยะเวลา 7วันหลังรอการตรวจสอบ ให้สรุปเอกสารทั้งหมดเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นชอบตามที่เสนอจัดตั้ง หรือเห็นชอบให้แก้ไขตามมาตรา 17 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ระยะเวลา 8 วันดำเนินการ เสนอให้กกต.พิจารณาเพื่อมีมติ ทั้งนี้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบถือปฏิบัติตามปฏิทินปฏิบัติงานแต่ละช่วงเวลาอย่างเคร่งครัด และช่วงเวลาที่พรรคจะแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องได้คือช่วงเวลาเดียวกับที่ส่งให้ 9 หน่วยงานตรวจสอบเท่านั้น ถ้าพ้นระยะเวลาดังกล่าวให้เสนอนายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 17