‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 32.85 บาทต่อดอลลาร์

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 32.85 บาทต่อดอลลาร์

ในสัปดาห์นี้ ภาพรวมตลาดการเงินแกว่งตัวกว้าง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อตามภูมิภาค ชี้จับตาการลดRRR ของจีนและตลาดหุ้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.85บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดช่วงสิ้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 32.87บาทต่อดอลลาร์

ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่เบาบาง มองว่า  ภาพรวมตลาดการเงินสัปดาห์นี้จึงจะแกว่งตัวกว้าง อย่างไรก็ตาม ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งรายงานการตัวเลขการว่างงานในสหรัฐที่ต่ำลงซึ่งเป็นบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลางจีนก็มีการปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio:RRR) ลงอีก 1.0% ไปที่ระดับ 14.5% เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนที่กำลังได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าด้วย ทั้งสองปัจจัยยังคงยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น

ส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแรงพร้อมกับสกุลเงินภูมิภาคในช่วงสัปดาห์ก่อน จะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ต่อในช่วงนี้ถ้าตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) มองว่าการลด RRR ของจีนพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐเป็นสองปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของสกุลเงินเอเชีย ช่วงสั้นจึงต้องจับตาตลาดหุ้นประกอบไปด้วย 

ด้วยทิศทางดอกเบี้ย เงินเอเชียมีโอกาสอ่อนค่าแน่นอน ดังนั้นถ้าตลาดยังไม่เปิดรับความเสี่ยง ก็มีโอกาสสูงที่เงินบาทจะอ่อนค่าต่อไปในระยะสั้น

กรอบเงินบาทระหว่างวัน 32.76-32.86บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์ 32.50-33.00บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้ต้องติดตามการรายงานผลประกอบการของกลุ่มธนาคารกับเงินเฟ้อสหรัฐ ขณะเดียวกันตลาดการเงินจะเริ่มน่าสนใจขึ้นตั้งแต่วันอังคารเนื่องจากมีการประชุมประจำปีระหว่าง IMF และ World Bank ที่กรุงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตลาดคาดว่าทั้งสององค์กร จะส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากเรื่องสงครามการค้าและต้นทุนทางการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น

ต่อมาในวันพฤหัส เงินเฟ้อในสหรัฐ (CPI) คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะลดลงจากระดับ 2.7% ในเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 2011 ย้ำว่ามีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

วันศุกร์ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่สามของกลุ่มธนาคารในสหรัฐอย่าง JPMorgan และ Citigroup คาดว่าจะส่งสัญญาณเชิงบวกด้วยสินเชื่อที่ขยายตัว และอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นจากธุรกิจค้าตราสารทางการเงิน