เด็กขาดการศึกษา เหตุครูเก่งขาดแคลน

เด็กขาดการศึกษา เหตุครูเก่งขาดแคลน

เผยเด็กและเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลก ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน และกว่า 617 ล้านคน หรือกว่า 60% ทั่วโลก มีชีวิตไม่มั่นคง ไม่รู้หนังสือ "เด็กยากจน-ด้อยโอกา-อาศัยในพื้นที่ขัดแย้ง" มีความเสี่ยงขาดการศึกษา คุรุสภา แนะควรปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพครู

ปัญหาการขาดแคลนครูส่วนใหญ่เกิดขึ้นในท้องที่ยากจน รวมไปถึงภูมิภาคที่ประชากรเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิกฤตขาดแคลนบุคคากรทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานด้านการศึกษามักว่าจ้างบุคคลที่มีการฝึกอบรมน้อย หรือไม่มีการฝึกอบรมในเรื่องการสอนมาก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างครู รวมไปถึงจำนวนครูจำนวนน้อยทำให้เด็กๆ ต้องนั่งเรียนรวมกันในห้องใหญ่ ลดคุณภาพการศึกษา

ทั้งนี้ จากข้อมูลประชาคมระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลก ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน และกว่า 617 ล้านคน หรือกว่า 60% ทั่วโลก มีชีวิตไม่มั่นคง ไม่รู้หนังสือ และการคำนวณขั้นพื้นฐาน เด็กยากจน ด้อยโอกาส และอาศัยในพื้นที่ขัดแย้งมีความเสี่ยงขาดการศึกษา คุรุสภา แนะควรปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพครู

โดยในปี 2572 มีความมุ่งมั่นที่จะให้เด็กทุกคนทั่วโลกได้รับการศึกษาระดับประถมฯ และมัธยมฯ ขยายการศึกษาที่มีคุณภาพให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนทุกระดับ ปราศจากการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 69 ล้านคน เพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาและคุณภาพการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผล

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ สภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา กล่าวในงานการประชุมทางวิชาการเนื่องในโอกาสวันครูโลก เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคุรุสภาในการพัฒนายกระดับคุณภาพครูไทยว่า แนวทางหนึ่ง คือ การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันเป็นชุมชนวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน และพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีจรรยาบรรณเหมาะสมกับการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นการรับประกันว่าผู้เรียน จะได้รับการสอนจากครูที่มีคุณภาพ

ด้านการพัฒนาในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Dr. Gatot Hari Priowirjanto ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รัฐมนตรีศึกษาทั้ง 11 ประเทศ ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาครูคุณภาพ พร้อมผลักดันการใช้มาตรฐานกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะครูให้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พร้อมจัดให้มีการแลกเปลี่ยนครูระหว่างประเทศเพื่อให้เด็กเปลี่ยนมุมมองหลากหลายจากครูผู้สอน ทั้งนี้ ในส่วนของคุรุสภาได้ทดลองทำการแลกเปลี่ยนครูประจำการแล้ว

ในส่วนของการพัฒนาระดับโลก Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ เผยว่า “ประเด็นหลักซึ่งถือเป็นหน้าที่ของยูเนสโกคือการเดินหน้าสนับสนุนประเทศสมาชิกในการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีเหมาะสมกับครู ตามบริบทที่แตกต่างกัน สู่การกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองโลก โดยในด้านของครูต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในด้านดิจิทัล ต้องเป็นคุณครูแถวหน้า ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และสุดท้าย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คุณภาพการศึกษาอยู่ที่คุณภาพของครูเอง ”

สำหรับกรอบสมรรถนะวิชาชีพครูเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมกับอีก 10 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดทำขึ้น เน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสุข ด้วย 4 ด้านสำคัญ 1.ต้องเป็นครูที่ดีทั้งในด้านการสอน ชีวิตส่วนตัว รู้จักตัวเองและผู้อื่น 2.เรียนรู้เพิ่มเติมให้มีความรู้เพิ่มขึ้น เข้าใจกระแสนิยม และติดตามข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ

3.การให้ชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มการเรียนรู้ของนักเรียน โดยสามารถเข้าใจความหลากหลาย พร้อมร่วมมือกับพ่อแม่ผู้ปกครอง สุดท้าย คือ ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยการทำความเข้าใจและรู้จักนักเรียนให้มากขึ้น ใช้วิธีการสอนที่มีประสิทธิผล และพร้อมให้ข้อเสนอแนะแก่นักเรียนได้ โดยขณะนี้มาเลเซีย บรูไน รวมถึงประเทศไทยได้นำกรอบสมรรถนะนี้มาใช้แล้ว

การจัดงานวันครูโลก ประจำปี 2561 พร้อมเสวนาเรื่อง สิทธิทางการเรียนรู้กับครูคุณภาพ ในครั้งนี้ ถือเป็นการเดินหน้าตามวัตถุประสงค์ในการยกย่องเชิดชูเกียรติวิชาชีพครู และให้สาธารณชนตระหนักและรำลึกถึงบทบาทหน้าที่ครูที่มีส่วนในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมถึงหน้าที่ในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนในทุกด้าน พร้อมเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสบการณ์ของครู เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้แก่เด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วโลก