คุม 'สินเชื่อบ้าน' ธปท.เร่งถกผู้เกี่ยวข้องคุมเก็งกำไร-สกัดเอ็นพีแอล

คุม 'สินเชื่อบ้าน' ธปท.เร่งถกผู้เกี่ยวข้องคุมเก็งกำไร-สกัดเอ็นพีแอล

"แบงก์ชาติ" เตรียมออกมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เร่งหารือผู้เกี่ยวข้อง หวังสกัดการเก็งกำไรป้องกันหนี้เสียลาม ด้านสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนออกมาตรการคุม จับตาบ้านหรูกลุ่ม 10-20 ล้าน เอ็นพีแอลพุ่งมากสุด

สถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ล่าสุดเตรียมออกมาตรการเพื่อมากำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเหล่านี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Fitch Ratings Thailand’s Annual Conference ว่า ธปท.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เกี่ยวกับมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน(เฮียริ่ง)เกี่ยวกับมาตรการได้ ก่อนจะออกเป็นมาตรการเพื่อบังคับใช้ต่อไป เนื่องจากพบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ซึ่งทำให้เกิดการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรของนักลงทุน และยังทำให้เกิดเป็นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เตรียมทำเฮียริ่งผู้เกี่ยวข้อง

“ล่าสุดเราคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และในเร็วๆนี้เราจะเปิดทำเฮียริ่งเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะมีการเปิดเผยข้อมูล เอกสารต่างๆออกมาด้วย เหมือนกับสินเชื่อรถยนต์ที่กระบวนการ คือก่อนมีการออกมาตรการ เราก็มีเปิดให้รับฟังความคิดเห็นก่อน ครั้งนี้ก็เหมือนกัน” นายวิรไทกล่าว

นอกจากนี้ สำหรับภาพส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีแนวโน้มเกิดหนี้เสียขึ้นมาต่อเนื่อง การเข้าไปกำกับดูแลนั้น ธนาคารก็ต้องทำควบคู่กัน คือมาตรการกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน(แมคโครพรูเด็นเชียล) ควบคู่กับการใช้นโยบายการเงินด้วยเพื่อให้เกิดเสถียรภาพสูงสุดในการดูแลด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

หนี้เสียบ้านพุ่งจากสินเชื่อผ่อนปรน

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ขณะที่นี้ ธปท.กำลังเตรียมออกมาตรการดูแลสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากปัจจุบันพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก การที่ธปท.ออกมาดูแลจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้ มาจากการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนปรนเกินไป เช่น การกำหนดการให้สินเชื่อต่อมูลค่าบ้านหรือแอลทีวี ที่ปัจจุบันมี มีการกำหนดแอลทีวี ในระดับสูงที่ 90-95% ถือเป็นระดับสูงสุดหากเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ มีการกำหนด การให้แอลทีวีไว้ราว 70-80% และถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีการให้วงเงินเกินไป นอกจากแบงก์จะต้องสำรองเงินกองทุนเพิ่มแล้ว ในส่วนที่ให้วงเงินสินเชื่อเกินจาก แอลทีวี ก็มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะแบงก์รับความเสี่ยงมากขึ้น หรือการขอหลักประกันเพิ่ม เช่นเงินฝาก เพื่อค้ำประกันความเสี่ยง

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ ยังมีการคุมการเก็งกำไรจากที่อยู่อาศัยอย่างเข้มงวดด้วย เช่น การควบคุม แอลทีวี สำหรับบ้านหลังที่สอง จากบ้านหลักแรกที่ให้ แอลทีวี ที่ 70-80% มาเหลือ 50% หรือบางประเทศเพียง 30% เท่านั้นในบ้านหลักที่สอง เพื่อให้คนที่มีศักยภาพจริงๆ และเพื่อป้องกันการเกิดการเก็งกำไรในที่อยู่อาศัย ดังนั้นก็เชื่อว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ดี หากมีมาตรการลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นมาตรการที่สามารถแก้ได้ตรงจุด และแก้ไข ป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยได้

“การปล่อยสินเชื่อแบงก์วันนี้อาจเรียกได้ว่าหละหลวม แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ส่วนใหญ่อยู่ที่แบงก์เล็กมากกว่า สถานการณ์วันนี้ทุกคนพยายามช่วยเหลือกันเต็มที่ ฝั่งแบงก์ก็พยายามคัดเลือกลูกค้า แต่ก็ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่เล็ดลอดออกไปได้ ดังนั้นตรงนี้จึงต้องกลับมาดูมากขึ้น เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา โดยเฉพาะผลกระทบจากต่างประเทศ เราจะเอนเอียงได้ง่าย และบีบให้พอร์ตสินเชื่อมีความเสี่ยงสูงมากกว่า ทำให้อาจเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในระบบได้” นายกิตติกล่าว

บ้านหรู10-20ล้าน‘หนี้เสีย’มากสุด

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า หากดูหนี้เสียในระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยของระบบธนาคารพาณิชย์วันนี้เชื่อว่า ปัญหาไม่ได้มาจาก การให้แอลทีวีสูงเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาอีกด้านยังมาจากการผ่อนเกณฑ์ เรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ของแบงก์ด้วย ที่สร้างปัญหาให้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้หากดูด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มที่แบงก์ให้แอลทีวีสูงเกิน 100% ถือว่าเป็นกลุ่มที่เห็นเอ็นพีแอลสูงชัดเจน โดยมีเอ็นพีแอลเฉลี่ย 3.1-5.2% โดยพบว่าเอ็นพีแอลของสินเชื่อบ้านราคาเฉลี่ย 1-3 ล้านบาท เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.9% ขณะที่ราคา 3-5 ล้านบาทเอ็นพีแอล 3.1% และราคา 5.10 ล้านบาท เอ็นพีแอลสูงขึ้นที่ 3.5% และเอ็นพีแอลมากที่สุดอยู่ในกลุ่มบ้านราคา 10-20ล้านบาท ที่มีเอ็นพีแอล 5.2%

แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มที่มีเอ็นพีแอลสูงๆไม่ได้มีแค่กลุ่มที่แบงก์พาณิชย์ให้ แอลทีวีสูงๆเท่านั้น แต่ยังพบว่า แม้จะให้LTV ต่ำเพียงระดับ 70-80% แต่ระดับเอ็นพีแอลก็สูงเช่นกัน โดยราคาบ้านต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่เอ็นพีแอลสูงถึง 2.7% ซึ่งมากกว่า กลุ่มบ้านที่มีราคาเฉลี่ย 1-3ล้านบาทมีเอ็นพีแอลที่ 2.3% และราคา 3-5ล้านบาท 2.2% ดังนั้น การใช้แอลทีวีก็อาจไม่ได้สะท้อนเสมอไปว่า การให้แอลทีวีสูง แล้วมีโอกาสเอ็นพีแอลสูง เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้กู้เป็นหลัก เพราะในกลุ่มที่แบงก์ให้แอลทีวีต่ำ ก็เป็นกลุ่มที่เอ็นพีแอลสูงเช่นกัน

จับตาบ้านราคาแพงเอ็นพีแอลพุ่ง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นอีกด้านว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือการให้สินเชื่อบ้านราคาสูงมากกว่าราคาต่ำ โดยบ้านที่ราคาเฉลี่ย3-5 ล้านบาท และเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไปกลับเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ปัญหาวันนี้ไม่ใช่มาจาก การให้แอลทีวีสูงๆอย่างเดียว แต่เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า บางส่วนก็มาจากกลุ่มที่แบงก์ให้แอลทีวีต่ำด้วยซ้ำ แน่นอนกลุ่มที่แบงก์เคยให้กู้เกิน 100% กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเอ็นพีแอลสูงที่แบงก์อาจต้องขจัดออก แต่กลุ่มที่แบงก์ต้องเป็นห่วงคือกลุ่มราคาบ้านสูงๆ ที่เราพบว่ามีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พอบ้านชิ้นใหญ่บางทีแบงก์ก็หย่อนเกณฑ์ หากเทียบกับบ้านราคาต่ำๆ ที่แบงก์คัดเลือกอย่างมาก เพราะคิดว่ากลุ่มนั้นต้องระวัง แต่จริงๆแล้วคนที่เกิดหนี้เสียคือพวกซื้อบ้านราคาแพงๆอีกด้านที่มีปัญหาคือการดูภาระหนี้ต่อรายได้หย่อนเกณฑ์เกินไปสำหรับรายได้สูง หรือคนที่ซื้อบ้านแพง สำหรับเราก็คิดว่าการมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่ 40% ก็สูงแล้ว ดังนั้นแบงก์ก็อาจต้องกลับมาดูหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้มากขึ้น” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ หากดู การปล่อยสินเชื่อสะสม ตามมูลค่าแอลทีวี พบว่า มีการกระจุกตัวสูง ในกลุ่มราคาบ้าน1-3ล้านบาท ที่ให้แอลทีวีเพียงระดับ 70-80% กลุ่มนี้มีสัดส่วนสินเชื่อคงค้างที่ 2.8แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าทุกกลุ่ม และหากดูการปล่อยสินเชื่อบ้านราคา 1-3ล้านบาท พบว่าสินเชื่อรวมอยู่ที่8.57แสนล้านบาท จากสินเชื่อบ้านคงค้างของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 2.03ล้านล้านบาท