เตือน 'โรคหูน้ำหนวกในเด็ก' พ่อแม่ต้องใส่ใจ ก่อนสายเกินแก้

เตือน 'โรคหูน้ำหนวกในเด็ก' พ่อแม่ต้องใส่ใจ ก่อนสายเกินแก้

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ แนะผู้ปกครองหมั่นตรวจเช็คหูของเด็ก เพื่อรู้ทันภัยโรคหูน้ำหนวก สามารถป้องกันและรักษาก่อนสายเกินแก้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหูน้ำหนวกในเด็ก เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย โดยโรคหูน้ำหนวก เป็นการอักเสบของเยื่อบุหูชั้นกลาง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เกิดหลังจากการเป็นหวัด โดยเชื้อโรคจะเกิดขึ้นจากคอผ่านไปยังหูชั้นกลางและทำให้เยื่อบุหูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวกสามารถแบ่งได้ 3 ชนิด คือ หูน้ำหนวกชนิดเฉียบพลัน หูน้ำหนวกชนิดใส และหูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง ทั้งนี้หูน้ำหนวกชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก ภายหลังจากการเป็นหวัด หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ มักมีอาการค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาการของโรคโดยทั่วไป เด็กจะมีอาการปวดหูมากและเป็นไข้ ต่อมาอาจมีแก้วหูทะลุและมีน้ำหนวกไหล การรักษาแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้หวัด ยาแก้ไข้ และยาหยอดจมูก ดังนั้นเมื่อพบว่าลูกมีอาการดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคหูน้ำหนวกในเด็กแต่ละชนิดมีวิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยหูน้ำหนวกชนิดใส เกิดจากการทำงานของท่อระบายอากาศในหูชั้นกลางบกพร่อง ทำให้มีน้ำขัง เด็กจะรู้สึกเหมือนมีน้ำขังอยู่ในหูตลอดเวลา มักเป็นหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ทางจมูก มักมีอาการปวดหูเล็กน้อย หูอื้อ เสียงก้องในหู การรักษาจะรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของน้ำในหูชั้นกลางควบคู่กับการให้ยา ถ้าไม่หายภายใน 3 เดือน ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการเจาะแก้วหูเพื่อดูดน้ำออกจากหูชั้นกลาง และใส่ท่อระบาย ส่วนหูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง คือ ภาวะที่มีอาการอักเสบของหูชั้นกลางมากกว่า 3 เดือน และมีแก้วหูทะลุ มีน้ำหนวกไหล อาจมีอาการตลอดเวลา หรือเป็นๆ หายๆ เกิดจากการที่เป็นหูน้ำหนวกเฉียบพลัน แล้วไม่ได้รับการรักษาปล่อยไว้จนอักเสบเรื้อรัง แบ่งเป็น 1.หูอักเสบเรื้อรังชนิดไม่รุนแรง มีแก้วหูทะลุ มีน้ำหนวกไหลเป็นระยะ รักษาด้วยการกินยาและหยอดยา หรือผ่าตัดปะแก้วหูเมื่อหูแห้ง 2.หูอักเสบชนิดเรื้อรังรุนแรง เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ฝีหลังหู หน้าเบี้ยว เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง หูหนวก เวียนศีรษะ ชัก เป็นต้น รักษาโดยการผ่าตัด โรคหูน้ำหนวกเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลสุขอนามัยของลูกอย่างถูกวิธี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ

เตือน \'โรคหูน้ำหนวกในเด็ก\' พ่อแม่ต้องใส่ใจ ก่อนสายเกินแก้