Big Picture เที่ยวไทย หมุดหมาย “เวิลด์คลาส”

Big Picture เที่ยวไทย หมุดหมาย “เวิลด์คลาส”

ในยุคที่ท่องเที่ยวไทยเป็นหัวจักรเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ตัวแปรพลิกเทรนด์คนเดินทาง จองซื้อทุกอย่างผ่านออนไลน์ ชีวิตติดรีวิว นักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งติดท็อป 5 โลก ปัจจัยซับซ้อน ต้องพึ่งบิ๊กดาต้า ตัดต่อแผนกลยุทธ์ ภูมิทัศน์เที่ยวไทย ไต่ระดับเวิลด์คลาส

การท่องเที่ยวไทยเติบโตต่อเนื่อง กลายเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่โลกยุคดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนแบบพลิกเกม จนก่อเกิดเป็นภูมิทัศน์ใหม่ด้านการท่องเที่ยว เกิดการบริการรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย เข้าถึงนักท่องเที่ยวได้เพียงปลายนิ้วคลิ๊ก ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเก่า เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามเทคโนโลยี ก่อกำเนิดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Gen Alpha

ศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT Academy) หน่วยงานายในสังกัดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มือการตลาดด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เห็นความสำคัญของการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก จึงเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิชาการ จัดประชุมสัมมนา เรื่อง ท่องเที่ยวไทย เดินหน้าสู่อนาคต (Tomorrow’s Tourism : The Future is Now) เพื่อระดมสมองวาดภาพอนาคตท่องเที่ยวไทย มีการนำเสนองานวิจัย และแสดงความคิดเห็น เพื่อออกแบบกลยุทธ์การตลาดด้านการท่องเที่ยวไทยจับตลาดให้อยู่หมัด 

รศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เฟคลิ้งค์ จำกัด เปิดฉากถึงภาพรวมของสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย ที่แม้จะยืนอยู่บนความสำเร็จในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทย 35 ล้านคน เติบโตจากปีก่อน 8% สร้างรายได้ 1.8 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 11%  ขณะที่มีรายได้จากคนไทยเที่ยวไทย 9.3 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 5.4%  โดยรวมสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 19-20% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ทว่า ภายใต้ความสำเร็จนี้ยังมีหลากหลายปัจจัยท้าทายเข้ามาเป็นตัวแปรให้ต้องวางแผนรับมือ โดยการคาดการณ์จาก Visitor Receipts in APAC By 2022 มองว่าการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยภายในปี2565 หรือ อีก 4 ปีข้างหน้า ไทยจะติดอันดับ 5 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงด้านการท่องเที่ยวสูงที่สุดในโลก โดยมีมูลค่า 82,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.8%

ที่สำคัญจะมีการเดินทางมาเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และภูเก็ต มากขึ้นเพราะไทยเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศอาเซียน ที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 40 ล้านคน และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในปี 2568 หากร่วมกันมองไปข้างหน้าในระยะยาว หน้าตาของอุตสาหกรรมและพฤติกรรมของการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

@ส่องเมกะเทรนท์เคลื่อนท่องเที่ยว

โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจะแตกเซ็กเมนท์ใหม่ๆ มากขึ้น ในปัจจุบันเราพูดถึงคนรุ่นใหม่ คือ มิลเลนเนียล (Millennials) ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี 2523- 2538 จนถึงกลุ่มเจนเนเรชั่น Z ที่เกิดตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน แต่ในไม่ช้า จะมีเพิ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มอัลฟ่า (Alpha) เป็นเซ็กเมนท์ใหม่อีกยุคที่เติบโตมากับเทคโนโลยี เป็นกลุ่มคนที่ต้องรับมือหากต้องการมองภาพอนาคตท่องเที่ยวในระยะยาว

 “เทรนด์การท่องเที่ยวที่คนเข้ามาใช้เทคโนโลยีจองตั๋ว อ่านรีวิว รวมไปถึงมีจิตสำนึกด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องไปให้ความรู้ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่นิยมทำงานอิสระ ท่องเที่ยวคู่กับทำงาน” นี่คือพฤติกรรมคนยุคใหม่ และเซ็กเมนท์ใหม่ๆ

นอกจากนี้พฤติกรรมคนท่องเที่ยวยังมีความต้องการเปลี่ยนไป ต้องการเดี๋ยวนี้ ท่องเที่ยวแบบไม่มีการวางแผน ไม่ชอบรอ (Nowness) หรือชอบตัดสินใจแบบนาทีสุดท้าย (Last minute) ไม่ชอบโปรแกรมที่วางไว้ แต่ชอบออกแบบเอง ตามใจตัวเอง (Tailor made)

รศ.ดร.จุฑามาศ ยังยกปัจจัยอื่นๆที่เป็นตัวแปรซับซ้อนที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่คนเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย เพราะเทคโนโลยีใหม่ จะเข้าเป็นตัวกำหนด และนำมาใช้การบริการแทนคน อย่างแชทบอท (โปรแกรมแชทตอบคำถามอัตโนมัติ) 

รวมไปถึงปรากฎการณ์การแยกตัวออกของประเทศสหราชอาณาจักร ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็มีนัยสำคัญต่อการท่องเที่ยว สะท้อนถึงเทรนด์ของการประชาสัมพันธ์ความเป็นชาตินิยม เพื่อสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยว โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางยุคโลกไร้พรมแดน โลกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจากโลภาวิวัฒน์ คนก็ต้องการแสวงหาความเฉพาะตัวของประเทศ และวัฒนธรรม ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ รวยกระจุกจนกระจาย ที่เป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ถูกขับเคลื่อนผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ก็ต้องแก้ไขปัญหา ผ่านการท่องเที่ยวด้วยการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวผ่านเมืองรอง เป็นตัวแปรสำคัญ เพื่อเป็นการกระจายรายได้

นักวิชาการยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ภาพรวมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลมากมายมหาศาล (Big Data) ที่ทรงพลังในการวิเคราะห์ความต้องการตลาด ตลอดจนแนวโน้มสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โมบายเฟิร์สท ทุกอย่างด้านการท่องเที่ยว บริหารจัดการผ่านทางมือถือที่ค้นหาข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา และที่สำคัญในไม่ช้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือการท่องเที่ยวพร้อมกับหุ่นยนต์ (Travelotic -Travel +Robotic) จะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่กลายเป็นเรื่องปกติ (New normal) 

ปัจจัยที่ต้องมาคำนึงถึงอีกด้านคือการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางออกนอกประเทศปีละมากกว่า 100 ล้านคน 

แม้เป็นยุคเทคโนโลยีแบบสุดขั้ว ทว่า ความสนใจของนักท่องเที่ยว ยังต้องการเดินทางไปแสวงหาจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ (Humanistic) ชอบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และเรียนรู้วิถีชีวิตติดดิน รวมถึงความต้องการท่องเที่ยวไม่เพียงดูแลสุขภาพกาย แต่ยังต้องการดูแลสุขภาพจิตที่ดี (Wellness) ต้องการความสงบ พร้อมกับพักผ่อน เมืองรอง จึงตอบโจทย์ คนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะทำให้ชีวิตมีความสมดุล (Work- life balance) จึงมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกมุ่งสู่เมืองรองเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ให้กับชีวิต

@ผ่าขุมพลัง Big Data สนั่นโซเชียล

ศิเวก สัจเดว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมนด์ทรี จำกัด เผยถึงการนำพลังข้อมูลมาใช้วิเคราะห์วางแผนการตลาดในหัวข้อ  “Big Data Big Picture การดักอนาคตด้วยพลังข้อมูล” ได้เผยถึงการเฝ้าดูวิเคราะห์ข้อมูลจากการอ่านรีวิว แฮชแท็กบนโซเชียลหลากหลายช่องทาง รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลการท่องเที่ยว คอมเมนท์จากคนนับแสนนับล้านคน ถือเป็นเครื่องมือทรงพลังที่ทำให้วิเคราะห์ในเชิงลึกถึงผลบวกและผลลบ ของเสียงจากนักท่องเที่ยว (Voice of Tourism) 

“เราประเมินการท่องเที่ยวโดยการดึงแกนหลักๆ ของข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ในเมืองหลักๆ อาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ พัทยา จากโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ฟังการพูดถึงโดยรวม แล้วนำมาวิเคราะห์ ตลอดจนการอ่านข้อมูลเขียนรีวิว ในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น ทริปแอดไวเวอร์ (tripadvisor) ที่เป็นเสียงนักท่องเที่ยวที่นำมาวิเคราะห์วางแผนได้”

สิ่งเหล่านี้ทำให้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด วัฒนธรรมที่แตกต่างกันย่อมมีผลต่อมุมมองที่ต่างกันด้วย หลังจากเข้าไปดูผลความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยวพบจุดที่น่าสนใจหลายประการ ที่เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติการรับรู้ของคนไทยที่มองเมืองท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เช่น พัทยา คนไทยอาจจะมองในเชิงเป็นเมืองบาป (Sin city)ที่เต็มไปด้วยบาร์เบียร์ แต่ปัจจุบันได้รีแบรนด์ใหม่ ทัศนคติกับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เปลี่ยนไป มองพัทยาเป็นเมืองที่คนพูดถึงในเชิงบวก ในการบริหารจัดการเมือง รวมถึงมีการพัฒนาจุดเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภาแตกต่างจากเมืองภูเก็ต ที่ถูกพูดถึงในเชิงลบมากกว่า เพราะมีนักท่องเที่ยวเปลื้องผ้าเดินในสนามบิน จนถูกพูดถึงในโลกโซเชียล

รวมถึงกระบี่ก็เป็นอีกเมืองที่คนพูดถึงในเชิงบวกว่าเป็นเมืองติดทะเลที่สวยที่สุด จนกระทั่งเกิดกระแสไปเที่ยวกันอย่างล้นหลาม ซึ่งเริ่มทำให้เกิดสัญญาณรับมือไม่ทัน

“ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาต่อยอดวางแผนทำการตลาดในเชิงบวก ไปพร้อมกันกับการสื่อสารล้างภาพลบ ทำความเข้าใจความชอบหรือไม่ชอบไทย เพราะอะไรในเชิงลึก วิเคราะห์เทรนด์ และแยกเซ็กเมนท์เทชั่น ตลอดจนวิเคราะห์ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวที่ปักหมุด เป็นคลื่นพลังข้อมูลที่เกิดขึ้นรวดเร็วที่ต้องอ่านและดักความเห็นได้ทันและนำมาใช้”

อย่งไรก็ตาม เขาเห็นว่า สิ่งที่น่าห่วงอีกด้านคือ ข้อมูลที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมิเดีย ที่ต้องคอยเข้าไปส่องและใช้การสื่อสารให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นข้อมูลจาก ผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียล (Influencers) เน็ทไอดอลต่างชาติคนหนึ่งได้ เปรียบเทียบ กรุงเทพฯ กับ กัวลาลัมเปอร์ ใน 5 ด้านด้วยคือ อาหาร กิจกรรม สีสันค่ำคืน (Nightlife) ผู้คน และไลฟ์สไตล์ ซึ่งหากมองในฝั่งไทยน่าจะเหนือกว่า ทั้งอาหาร กิจกรรม และไนท์ไลฟ์ แต่ชายคนนี้กลับเลือกกัวลาลัมเปอร์

เราเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ดิจิทัล นอแมด” (Digital Nomad) กลุ่มคนเร่ร่อน เที่ยวและทำงานผ่านอัพโหลดวีดีโอ แล้วคอยหาแบรนด์มาสปอนเซอร์ ซึ่งพวกเขาการันตีว่าความเห็นพวกเขาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน คนเหล่านี้เริ่มเข้ามาในไทยมากขึ้นและมีการรวมกลุ่มกันอยู่ในประเทศไทยนับหมื่น หากพูดอะไรในเชิงลบย่อมส่งผลกระทบกับไทยอย่างยิ่ง ดิจิทัล โนแมดนับวันจะมีอิทธิลและมีจำนวนมากขึ้นจากการคาดการณ์พบว่า ในปี 2035 จะมีโนแมดทั่วโลกถึง 1 ล้านคน

@ดักความมังคั่งพญามังกร 

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (Intelligence Center, CAMT Digital School) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยในหัวข้อ "เบิกฟ้าพญามังกร จับจุดโคจรกลุ่มจีนในอนาคต” มองถึงความสำคัญของการเติบโตอย่างมหาศาลของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ควรจับตา เพราะจีนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก

โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ของจีน (ปี 2559- 2563) จึงออกนโยบายหลัก 3 ด้านคือ One Belt One Road (OBOR) พัฒนาเชื่อมต่อประเทศทางฝั่งตะวันตก พร้อมกันกับรื้อฟื้นเส้นทางสายไหม, Made In China (New Normal) สร้างปรากฎการณ์ผลิตสินค้าจีนที่มุ่งเน้นสินค้านวัตกรรมสัดส่วน 2 ใน3 ของสินค้าที่ผลิตภายในปี 2568 และ อินเตอร์เน็ทพลัส โดยการปฏิวัติความเป็นดิจิทัล จึงมีนักธุรกิจคลื่นลูกใหม่ของจีนเกิดขึ้นหลายคน อาทิ แจ๊ก หม่า เจ้าของอาลีบาบา (Alibaba), หม่าหัวเถิง เจ้าของ เจ้าของเทนเซ็นต์ (Tencent) ผู้พัฒนาวีแชท ,หลี่เยี่ยนหง เจ้าของ ไป่ตู้ (Baidu) เสิร์ซเอ็นจิ้นในจีน ,และ หลิวเฉียงตง เจ้าของ เจดีดอทคอม

กระแสคนจีนเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัด และในเวลาเดียวกันที่มีการเดินทางคนจีนก็ไปพร้อมกับการส่งออกธุรกิจบริการไปรุกตลาดต่างประเทศ ผ่านซื้อสินค้า อาลีเพย์ (Alipay)

นี่จึงทำให้มีการเดินทางทั้งการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจออกนอกจีนเติบโตอย่างรวดเร็วโดยที่จีนธุรกิจจีนก็ยังกุมประโยชน์โดยปี 2560 ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางออกต่างประเทศ 131 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7% มีการใช้จ่ายต่อหัวรวมอยู่ที่ 115,290 ล้านดอลลาร์

ไทยเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของคนจีน โดยมีกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ตเป็นเป้าหมายการเดินทางอันดับต้นๆ ทัศนคติของจีนมองไทยคือไม่มีข้อพิพาทบาดหมางระหว่างประเทศ เป็นเมืองยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาเซียน เป็นหลังบ้านในการพักผ่อน ทั้งอาหารและการท่องเที่ยว ที่สำคัญยังเป็นตลาดบริโภคสินค้านวัตกรรมจากจีน

“ในปีที่ผ่านมาคนจีนเดินทางท่องเที่ยวรวม 5,000 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยเดินทางคนละ 4 ครั้งต่อปี”เขาเล่าถึงอัตราการเดินทางของคนจีนที่กลายเป็นเรื่องปกติเหมือนการเดินทางในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

สิ่งที่น่าสนใจของตลาดนักท่องเที่ยวจีน คือพฤติกรรมที่เข้าสู่โหมดการใช้เทคโนโลยีเกือบเต็มรูปแบบ โดยจากสถิตินักท่องเที่ยวอิสระ (FIT-Free and Independent Traveler) ) มากกว่าการใช้บริการบริษัททัวร์ มีสัดส่วนถึง 80% สำหรับท่องเที่ยวในประเทศ และมากกว่า 50% สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า SoLoMo (Social +Location+Mobile)การท่องเที่ยวที่สื่อสารหาข้อมูลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ทของคนจีนมีการใช้รวม 772 ล้านคน หรือ 55.8% ของประชากรชาวจีน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจออนไลน์ของจีนเติบโต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Internet+ ซึ่งคนจีนปัจจุบันใช้อินเตอร์เน็ทในทุกด้านตั้งแต่ คุย แชร์ ช้อป หาข้อมูล และจ่ายเงินโดยไม่ใช้เงินสด มีการซื้อสินค้าถึง 500 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และจองตั๋ว/ที่พัก การท่องเที่ยว 375 ล้านคน โดยมูลค่าธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ในปี 2560 อยู่ที่ 738,410 ล้านหยวน เติบโตถึง 24.3% เมื่อเทียบกับปี 2559 และมีจำนวนผู้ใช้งาน 325 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับปี 2559

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจีนก้าวเข้าสู่การบริการออนไลน์แบบครบวงจร ในทุกด้านๆ ตั้งแต่การซื้อสินค้า, การเสิร์ซหาข้อมูล, ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์ค, ให้คะแนนความพึ่งพอใจต่อการท่องเที่ยว, ใช้บริการพาหนะเดินทางท่องเที่ยว, แนะนำข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว, จองโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และชำระเงิน

สำหรับ 6 แอพพลิเคชั่นยอดนิคมในประเทศจีน (ในเดือนก.พ. 2561) ประกอบด้วย 1.Ctrip (ซีทริป), 2.Qunar (ชวี่หน่า) สองอันดับแรกเจ้าของคือคนเดียวกันคือไป่ตู้(Baidu)  3.Fliggy (เฟยจู) เจ้าของคือ อาลีบาบา (Alibaba)ยักษ์ใหญ่เว็บไซต์ในจีน  4.Tunui (ถูหนิว) 5.Mafengwo (หม่าเฟิงวอ) และ 6.IV.com (ถงเฉิง) เจ้าของคือ Tencent

จีนมีธุรกรรมการบริการที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร ดังนั้นหากต้องการเจาะตลาดจีนจึงต้องรู้ช่องทางหลักของการให้บริการออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวที่คนจีนชอบใช้ เริ่มต้นจากโซเชียลเน็ทเวิร์ค ที่คนจีนใช้มากที่สุด 4 อันดับแรก คือ วีแชท (Wechat), คิวคิว (QQ) , เหว่ยป๋อ (Weibo), เหม่ยพาย(Meipai)

โดยกลุ่มเสิร์ซเอ็นจิ้น ที่จีนใช้มากที่สุด 4 อันดับแรก ประกอบด้วย ไป่ตู้(Baidu), โซ่วโก่ว (Sougou), โซหู (Sohu) และ ยาฮู (Yahoo) ขณะที่แอพพลิเคชั่นวีดีโอแทนยูทูป (Youtube) คือ อ้าวฉีอี้ (iQiyi), โยวคู่(Youku), ถูโต้ว (Tudou)

ด้านกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ประกอบด้วย เหว่ยชาง (Wei-shang) ซื้อขายบนโซเชียล, เถาเป่า (Taobao) ซื้อขายกับผู้บริโภคด้วยกัน (C2C),ทีมอลล์ (Tmall) ซื้อสินค้าธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C)

และกลุ่มเว็บไซต์และแอพลลิชั่นด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม 4 อันดับแรก คือ ซีทริป (Ctrip), ชวี่หน่า (Qunar) เจ้าของคือไป่ตู้ (Baidu) รวมกลุ่มเพื่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา 3.หม่าเฟิงวอ (Mafengwo) โซเชียลมิเดียด้านท่องเที่ยวที่มาแบ่งปันประสบการณ์การทองเที่ยวที่ยังไม่ถูกใครมาซื้อเพื่อควบรวมกิจการ และ 4.ฟลิกกี้ (Fliggy) บริการการท่องเที่ยวใต้ร่มเงาของอาลีบาบา ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ปัจจุบันเป็นการแข่งขันของการบริการท่องเที่ยวของจีนในไทยมีสองค่ายยักษ์ใหญ่ไป่ตู้ ที่ปัจจุบันจับมือกับเทนเซ็นต์เพื่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา เพราะซีทริป และชวี่หน่าเป็นของไป่ตู้จับมือกับ เท็นเซ็นต์ ที่มีวงในของจีน ที่เรียกว่า เตี่ยนผิง(Dianping) และวีแชท วีแชทเพย์ จึงมีพลังในการสร้างซัพพลายเชนให้ใหญ่เพื่อแข่งกับอาลีบาบา ซึ่งมีฟลิกเกอร์ และอาลีเพย์ ”

ปัจจุบันเส้นทางการท่องเที่ยวคนจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย เปลี่ยนจาก”เส้นตรง”ที่ลูกค้าสะท้อนกลับมาถึงต้นทางผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลา แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็น “วงกลม” มีนักท่องเที่ยวมาเขียนรีวิว หรือคอมเมนท์ได้ทันที นำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็ว โดยการเก็บคอนเทนท์ของคนที่เข้าไปเขียนรีวิว (CtoB -Customer to Business)

“ข้อมูลจากนักท่องเที่ยวถูกนำไปสร้างการบริการใหม่ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ เช่นการออกแบบเส้นทางโปรแกรมทัวร์กิจกรรมการปล่อยโคมไฟ กิจกรรมท็อปฮิตที่คนจีนชอบและชื่นชมในงานวันลอยกระทง”

ตัวอย่างจาก Ctrip เป็นเว็บไซต์บริการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งที่มาแรง มีการบริหารเชิงรุก ช่วยบริหารจัดการเรืองคืนภาษี รวมไปถึงบริการการชำระเงิน และล่าสุดมีแผนกปล่อยกู้เพื่อการท่องเที่ยว เป็นบริการใหม่ ที่พัฒนาการบริการเชิงรุก

“หลังจากเข้ามาให้บริการนักท่องเที่ยวจึงรู้และมีข้อมูลเครดิตของนักท่องเที่ยว รวมถึงพฤติกรรมการใช้เงิน จึงกล้าที่จะออกบริการปล่อยกู้ เพื่อกระตุ้นให้คนท่องเที่ยวโดยไม่กลัวหนี้สูญเพราะสามารถติดตามวิเคราะห์สถานะการเงิน รวมพฤติกรรมการใช้จ่ายจากฐานข้อมูล (Data Analysis)

อีกโมเดลที่น่าสนใจคือการเติบโตของธุรกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่เกิดขึ้นจากอดีตคนจีนที่เป็นนักศึกษาม.เชียงใหม่ ใช้โปรแกรมวีแชทในการเสิร์ซหาคนที่อยู่ใกล้ และต้องการระดมกลุ่มท่องเที่ยวมาหารค่ารถ

สิ่งที่น่ากลัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา ทุกโปรแกรมห่วงโซ่อุปทานท่องเที่ยว มีคนจีน และแอพพลิเคชั่นจีนมาเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นทริป จนจบทริป จึงมีกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพจากจีน ที่รู้ว่าสู้ยักษ์ใหญ่ในจีนไม่ได้ก็เข้ามาพัฒนาสตาร์ทอัพในไทย ช่วยให้บริการติดตั้งโปรแกรมการชำระเงิน เช่น อาลีเพย์ หรือ วีแชทเพย์ ตามร้านต่างๆ พร้อมกันกับสอดแทรกบริการซื้อสินค้าจากการมาท่องเที่ยวและบริการส่งออก

“OTA (Online Travel Agency) ขนาดเล็กรู้ตัวว่าใช้สมรภูมิในจีนสู้ไม่ได้เพราะใหญ่มาก จึงเข้ามาตั้งสตาร์ทในไทยเพื่อดักคนจีน โดยหาวิธีให้คนจีนรู้จัก ช่วยบริการดาวโหลดแอพให้ได้ จากนั้นจึงพ่วงการบริการออนไลน์ ทูออฟไลน์ (O2O) เช่น จองโรงแรม สปา นวด บริการก่อนทริป ระหว่างทริป มีส่วนลด รวมถึงหลังจบทริป(After trip) ช่วยซื้อสินค้าที่ระลึกยอดนิยม เช่น หมอนยางพารา บริการขนส่งกลับไปที่บ้าน โดยคอนเซ็ปต์ช่วยให้ใช้เวลาในไทยคุ้มค่าที่สุด รวมถึงจัดการเรื่องภาษี ”

การบริการที่ครบวงจรทั้งหมดเป็นการรุกเข้ามาในไทยแบบกินรวบ ของธุรกิจจีนที่รวดเร็ว แม้ท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ก็เข้าไปสมาชิกบริการเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพราะเริ่มต้นจากบริการข้อมูล ดูดสมาชิกมาทำกิจกรรม แล้วตามมาด้วยการบริการด้านการท่องเที่ยว จนสุดท้ายขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce)

ดังนั้นห่วงโซ่อุปทานของไทยต้องตั้งหลักดูว่าจะเริ่มต้นไปเชื่อมต่อ(Plug in) การบริการได้จากตรงไหน เพราะรูปแบบการท่องเที่ยวและความนิยมคนจีนจะเปลี่ยนไปจากเดิมภายใน 5-10 ปีข้างหน้า จากออนไลน์ ทราเวล เอเจนซี่ (จากเป็นตัวกลาง) มาสู่ ออนไลน์ ทราเวล คอนเทนท์ (พัฒนาเนื้อหา) จนสุดท้ายเพิ่มความเป็นออนไลน์ ทราเวล เซอร์วิส (การบริการรูปแบบใหม่ๆ)

เขาเห็นพัฒนาการซัพพลายเชนท่องเที่ยวจีนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นมีความใหญ่และแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกินจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นสู้และชนกัน เพราะเคยใช้วิธีนี้แล้ว ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไทยเลย จึงต้องพัฒนาบิสสิเนสโมเดลใหม่ๆ ไปเชื่อมต่อ เช่น ได้ยินมาว่า ค่ายซีทริป กำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นแบ่งปัน ที่เรียกว่าถูเจีย(Tujia) ซึ่งคล้ายกันกับแอร์บีเอ็นบี บริการห้องพัก เพื่อรองรับเทรนด์นักท่องเที่ยวจีนไม่ขอบนอนในโรงแรม แต่เปลี่ยนไปพักโฮมเสตย์ ในบ้าน คอนโด ชุมชน รวมถึงชนบทมากขึ้น ตามเทรนด์ท่องเที่ยวอิสระ(FIT)

สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำคือพัฒนาโปรแกรม หรือห้องพักที่เป็นโฮมสเตย์แล้วรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองแล้วทำให้ตัวเองมีมูลค่าโดยการพ่วงดาวน์โหลดแอพพลิชั่นบริการอื่นๆของไทยเพื่อรับส่วนลด

“หากในอดีตที่เที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ๆ สู้เรื่องทุนไทยสู้ไม่ได้ แต่เมื่อเทรนด์นักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไปต้องการหาประสบการณ์ ชอบเดินตลาด ชิมทดลองอาหารร้านเล็กๆ อยู่โฮมสเตย์ จึงทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าได้ประโยชน์ แต่เรานิ่งนอนใจไม่ได้ต้องเร่งพัฒนาก่อนที่คนจีนจะเข้ามาตั้งธุรกิจรองรับเทรนด์ FIT”