ศาลตรังให้ประกันตัว 'สจ.-คนสนิท' คดีเผาเครื่องจักรกลผู้รับเหมา

ศาลตรังให้ประกันตัว 'สจ.-คนสนิท' คดีเผาเครื่องจักรกลผู้รับเหมา

สจ.คนดังและส.อบต.ลูกน้องคนสนิทได้ประกันตัว หลังศาลจังหวัดตรังอนุญาต ในคดีร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์เครื่องจักรกลของผู้รับเหมาชาว จ.สุราษฎร์ธานี

วันที่ 27 กันยายน 2561 จากกรณีที่นายจารึก ตะหมัง อายุ 56 ปี ชาวอ.เมือง จ.ตรัง มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภา อบจ.ตรัง เขต 5 อ.เมือง และนายสุวิทย์ ทองเพิ่ม อายุ 42 ปี ชาวอ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิท และมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภา อบต.นาบินหลา อ.เมือง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดตรัง ลงวันที่ 26 กันยายน 2561 ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ เครื่องจักรกลของ หจก.ภักสุธีโกศลการก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนนชาว จ.สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยนายจารึก ตะหมัง เป็นผู้ใช้ หรือผู้บงการ ได้ชิงเข้ามอบตัวกับทางตำรวจเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา หลังทราบว่าถูกศาลจังหวัดตรังออกหมายจับ และทางตำรวจ ทหาร เตรียมจะเข้าจับกุมตัวในเช้าตรู่ของวันนี้ (27 ก.ย.) แต่ได้ชิงเข้ามอบตัวเสียก่อน เพื่อหวังจะได้รับการประกันตัวจากศาล โดยเบื้องต้นให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และทางพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว

ล่าสุด ศาลจังหวัดตรังได้อนุญาตให้นายจารึก ตะหมัง สจ.คนดัง และนายสุวิทย์ ทองเพิ่ม สมาชิกสภา อบต.นาบินหลา ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิท ได้รับการประกันตัวออกไปแล้วด้วยเงินสดคนละ 3 แสนบาท ส่วนในคดีดังกล่าวจะมีผู้ร่วมขบวนการอีกหรือไม่นั้นทางตำรวจระดับปฏิบัติการ และผู้รับผิดชอบคดี ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากถูกผู้บังคับบัญชาสั่งห้ามให้ข้อมูลใดๆกับสื่อมวลชน

ขณะที่คดีคนร้ายลอบยิงคนงานก่อสร้างของบริษัทเดียวกันเสียชีวิต เมื่อเช้าวันที่ 16 สิงหาคม และคืนวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา คนร้ายยิงนายอำนวย เพชรรัตน์ อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นพยานปากสำคัญในคดีเผาเครื่องจักรกลและยิงคนงานก่อสร้างเสียชีวิตกลางงานศพเจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ยังไม่สามารถออกหมายจับใคร

ขณะที่ทางครอบครัวนายสุวิทย์ ภักสุธีโกศล ผู้รับเหมาก่อสร้างชาว จ.สุราษฎร์ธานี ยังยืนยันจะเดินหน้าเข้าร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมขอยกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างถนนที่เหลือในพื้นที่อีก 4 โครงการ เนื่องจากเกรงจะเกิดความไม่ปลอดภัย และเรียกร้องให้ดีเอสไอเข้ามาทำคดี โดยระบุว่าคดีดังกล่าวมีความสลับซับซ้อน หวั่นตำรวจในพื้นที่ไม่ทำคดีอย่างตรงไปตรงมา เกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีดังกล่าว