'พาณิชย์' ชี้สงครามการค้ารอบ 3 ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย

'พาณิชย์' ชี้สงครามการค้ารอบ 3 ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย

“พาณิชย์” วิเคราะห์สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนรอบ 3 อีก 5,745 รายการ พบส่งผลดีต่อการส่งออกไทย สินค้าหลายรายการมีโอกาสส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ จับตาจีนเอาคืนแน่

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.61 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์กรณีสหรัฐฯ ใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีน 5,745 รายการในอัตรา 10% มูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2561 ก่อนปรับเป็น 25% ในวันที่ 1 ม.ค.2562 ว่า จากการประเมินพบว่าไทยมีศักยภาพส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหลายรายการ ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี ยางแท่ง ผักผลไม้สดแช่แข็งแช่เย็นและแปรรูป เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด เป็นต้น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เช่น ปลาทูน่าบิ๊กอาย ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เช่น อาหารสุนัข แมวสำหรับขายปลีก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้) เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เช่น กรดซิตริก ยานยนต์และส่วนประกอบ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์ โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนสินค้าจีนสูง ได้แก่ ข้าวสี ยางแท่ง มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด น้ำผึ้งธรรมชาติ กรดซิตริก เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ตัดสินค้าออกเกือบ 300 รายการ มูลค่าประมาณ 1,064 ล้านเหรียญสหรัฐ ออกจากรายการเดิมที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)เสนอไว้ 6,031 รายการ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคและความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิต และส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตประจำวัน เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ อุปกรณ์บลูทูธ กลุ่มเคมีภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการเกษตร และกลุ่มอุปกรณ์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น หมวกกันน็อก ที่นั่งสำหรับเด็ก คอกสำหรับปล่อยให้เด็กเล่น

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จีนจะตอบโต้สหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้ ตามที่ได้ขู่ขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 5,207 รายการ ในอัตรา 5-25% มูลค่ารวม 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง สนค. จะมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบและโอกาสของไทยต่อไป

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ยังไม่มีทีท่ายุติในระยะอันใกล้ แต่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งสนค. ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ และความมั่นคง มาร่วมหารือถึงถึงการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าของไทย เพื่อกำหนดจุดยืนที่เหมาะสมในช่วงที่เกิดสงครามการค้า และกำหนดแนวทางการรับมือที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับไทยแล้ว โดยเห็นว่าไทยควรให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้า และควรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความมั่นคงที่จะมีความเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ และควรใช้โอกาสในการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ผลักดันกลไกที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“สนค. จะจัดประชุมในลักษณะนี้อีกเพื่อหารือในวงกว้างมากขึ้น เพราะนอกจากประเด็นสงครามการค้าแล้ว ไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ควรให้ความสำคัญ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และเรื่องความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยต้องมีมุมมองเชิงกว้างจากการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งมองไปในอนาคตเพื่อเตรียมรับมือกับยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วด้วย” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว