ปีนี้เสียหายนับแสนล้าน!! เปิดเวทีชำแหละ 'อีโคโนมิค คอรัปชั่น'

ปีนี้เสียหายนับแสนล้าน!! เปิดเวทีชำแหละ 'อีโคโนมิค คอรัปชั่น'

"สังศิต" ชำแหละ 14 งานวิจัยทุจริต ประเมินขั้นต่ำปีนี้ เสียหาย 100,000 ล้านบาท แพร่กระจายเป็นเอสเอ็มอี ระบุอีโคโนมิคคอรัปชั่น-บูโรเครติคคอรัปชั่นระบาดหนัก อำนาจรัฐเข้มแข็งยิ่งโกงหนัก

โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดา แกรนด์. -18 ก.ย.61 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการนำเสนอ 14 ผลงานวิชาการด้านการศึกษารูปแบบการทุจริต ประจำปี 2561

นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) กล่าวว่า ป.ป.ท.ก่อตั้งมานาน 10 ปี จนถึงปัจจุบันพบสถิติเรื่องร้องเรียนมากกว่า 30,000 เรื่อง ประเภทคดีส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีพฤติการณ์หรือรูปแบบการทุจริตที่หลากหลายตามภารกิจงานของแต่ละองค์กร บางคดีมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง บางคดีเกิดขึ้นครั้งเดียวแต่ส่งผลกระทบรุนแรงมีมูลค่าความเสียหายสูง โดยตัวแปรและปัจจัยสำคัญคือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ

พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ท.กล่าวว่า ในแต่ละปีป.ป.ท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ดังนั้นในปีนี้จึงให้แต่ะลำนักงานเขตพื้นที่นำปัญหาและรูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่มาจัดเป็นหมวดหมู่เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษา ตรวจสอบ การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ โดยการจัดรูปแบบ 14 กรณีศึกษาคดีการทุจริตเพี่อนำไปวิเคราะห์แผนประทุษกรรม พฤติกรรมการทุจริต สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปต่อยอดเพื่อหาแนวทางป้องกัน และปิดจุดอ่อน รวมทั้งจัดทำเป็นคู่มือการสืบสวนสวอบสวนแต่หาหลักฐานในโครงการทุจริตต่างๆต่อไป

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาผลการศึกษารูปแบบการทุจริต กล่าวว่า ผลการศึกษารูปแบบการทุจริตประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 14 เรื่องของเจ้าหน้าที่ป.ป.ท.ในฐานะฝ่ายปฎิบัติงานงานในแต่ละเขตพื้นที่พบว่า มีการทุจริตคอรัปชั่นในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งคดีการจดทะเบียนสมรสอำพรางของชาวต่างชาติและชาวไทย การทุจริตเงินออมผู้สูงอายุ การยักยอกทรัพย์ของเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ การทุจริตเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน และยังพบประเด็นใหม่ล่าสุด คือ รูปแบบการทุจริต กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งน่าสนใจ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายหน่วยงานฉวยโอกาสใช้สถานการณ์รุนแรงในพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์มาเป็นของตนเอง ขณะที่การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ได้เอื้อต่อการทุจริตรูปแบบพิเศษ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ

นายสังศิต กล่าวอีกว่า รูปแบบการทุจริตได้แพร่กระจายในหลายระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ทางธนาคารโลกได้แบ่งระดับการทุจริตเป็น 2 ขนาดคือ ทุจริตในโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แต่ตนเห็นว่าไทยมีการทุจริตทั้งในโครงการขนาดเล็กและกลาง โดยมีแนวโน้มการทุจริตในขนาดเล็กมากกว่า ซึ่งแม้จะเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่ก็มูลค่าความเสียหายมหาศาล จากการศึกษาปัญหาการทุจริตให้สินบนนำจับในรอบ 1 ปีของตนเองในหน่วยงานรัฐหน่วยงานเดียวด้านยาเสพติดพบว่า มีมูลค่าประมาณ 2,000-10,000 ล้านบาท/ปี หากรวมผลการศึกษารูปแบบการอีก 13 กรณีของป.ป.ท.ประเมินอย่างต่ำพบว่าในปี 2561 มูลค่าความเสียหายจากปัญหาการทุจริตอยู่ที่ 50,000-100,000 ล้านบาท/ปี มูลค่าความเสียหายนี้เรียกว่า Economic Corruption นอกจากนี้ยังมีการทุจริตที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดิน การซื้อขายตำแหน่ง หรือเรียกว่า”Bureaucratic Corruption ซึ่งแพร่ระบาดมากในสังคมไทย นอกจากนี้ยังมีรูปการคอรัปชั่นทางการเมือง หรือ Politic Corruption โดยปี 2562 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจึงขอให้ประเมินดูว่า การทุจริตทางการเมืองจะมีมูลค่าความเสียหายเท่าไร

“สาเหตุที่ทำให้ปัญหาคอรัปชั่นเพิ่มอย่างรวดเร็วเพราะไทยมีระบบการเมืองแบบปิด มีจุดอ่อนคือไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบการทำงานได้อย่างแท้จริง แม้จะมีรัฐสภาหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของนักการเมืองได้ ขณะที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอื้อต่อระบบอุปถัมป์มีการใช้เส้นสายมากกว่าระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง ที่มีระบบรัฐสภาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายในระบบปิดก็ไม่มีประสิทธิภาพพอ ทั้งๆที่รัฐบาลชุดนี้ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการทุจริตดีๆหลายฉบับ”นายสังศิต กล่าว

นายสังศิต กล่าวอีกว่า การคอรัปชั่นมีโอกาสขยายตัวสูงเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจบิดเบือนในการตัดสินใจแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ซึ่งผลจากการคอรัปชั่นในระดับจุลภาคทำให้การแข่งขันทางธุรกิจไม่เป็นธรรมและทำลายระบบเศรษฐกิจของไทยโดยตรงและยังส่งผลกระทบต่อนานาชาติ หากต้องการทราบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใครคอรัปชั่นมากกว่ากัน ก็ต้องทำวิจัย แต่จากที่ตนเคยทำวิจัยพบว่ารัฐบาลใดก็ตามที่มาอำนาจรัฐเข้มแข็งไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็สามารถทุจริตคอรัปชั่นได้มากกว่าและกว้างขวางกว่า