ยธ.โต้รายงาน 'ยูเอ็น' ขาดสมดุล จัดไทยเป็นประเทศน่าละอาย

ยธ.โต้รายงาน 'ยูเอ็น' ขาดสมดุล จัดไทยเป็นประเทศน่าละอาย

อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯ โต้รายงาน "ยูเอ็น"ขาดความสมดุล จัดไทยเป็นประเทศน่าละอาย แจงรัฐบาลให้ความสำคัญการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ใครถูกข่มขู่ขอคุ้มครองพยานได้

น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวยังขาดความสมดุลของข้อมูล ซึ่งรัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญในเชิงนโยบายการส่งเสริม คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ไม่เคยมีนโยบายหรือเจตนาข่มขู่ คุกคาม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน แต่อย่างใด จะเห็นได้ดังนี้

1. การวางมาตรการ กลไกต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ได้รับความปลอดภัย และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดทำคู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การรับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ตลอดจนการติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางช่วยเหลือและการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รับทราบปัญหาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

2. สำหรับกรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และน.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ที่ถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ไม่ได้ละเลยการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา หากบุคคลดังกล่าวมีการร้องขอ ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น การปรึกษากฎหมาย การช่วยเหลือทางคดี การประกันตัว เป็นต้น หากบุคคลดังกล่าว ถูกข่มขู่ คุกคามหรือไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถขอรับความคุ้มครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546

3. รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยเตรียมการออกเป็นนโยบายและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การเสนอปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 ให้ครอบคลุมถึงผู้แจ้งเบาะแสในความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาด้วย ดังนั้น ในอนาคตหากบุคคลดังกล่าวถูกข่มขู่คุกคาม ไม่ได้รับความปลอดภัย ย่อมสามารถขอรับการคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้ การเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... การบรรจุนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไว้ในร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 1 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ระหว่างปี พ.ศ.2562-2566 ตลอดจนการจัดทำแผนปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับหรือให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก UPR รอบที่ 2 (พ.ศ.2560-2563)

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมาน และถูกบังคับให้หายสาบสูญ ตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 198/2560 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน พร้อมผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ รับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรวจสอบ ติดตาม เยียวยา ป้องกันการทรมานและบังคับให้สูญหาย เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน. โดยประเด็นต่างๆที่นำมาชี้แจงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในผลการดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นพัฒนาการและความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยจะได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต