เครื่องถมเมืองนครฯ ปรับตัวสู่ตลาดโลก

เครื่องถมเมืองนครฯ ปรับตัวสู่ตลาดโลก

เครื่องถมนครฯ หัตถศิลป์ชั้นสูง มรดกล้ำค่าของเมืองไทย ถึงเวลาปรับตัวให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น

""""""""""""""""""""""""

“เราก็พยายามหาสิ่งใหม่ๆ ให้ลูกค้า ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ก็เดินต่อบนเส้นทางนี้ยาก ตลาดเครื่องถมส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ คนต่างชาติไม่ค่อยรู้จักเหมือนคนไทย ผมก็พยายามเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติรู้จักมากขึ้น” วชิระ นกอักษร ทายาทรุ่นที่ 2 (บุตรครูนิคม นกอักษร ครูศิลป์ของแผ่นดิน) เล่าถึงเครื่องถมนครฯ 

บ้านของเขา เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้หัตถศิลป์ไทย ชมรมผู้ผลิตเครื่องถมเมืองนคร และร้านนครหัตถกรรม ตั้งอยู่บนถนนสระเรียง (ติดหลังวัดสระเรียง) อ. เมือง จ.นครศรีธรรมราช

สถานที่แห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกฝนงานศิลปะหลายแขนงให้คนนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการทำเครื่องถม จะมีครูศิลป์ของแผ่นดินและทายาท เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา

หากถามว่า เครื่องถมเกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อไหร่... ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า เครื่องถมเมืองนครฯ เกิดขึ้นในสมัยไหน...

บ้างก็ว่า เกิดขึ้นยุคสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยา ช่วงที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขายในเมืองนครศรีธรรมราช บ้างก็ว่า รับมาจากอิหร่าน หรือไม่ก็กรีซ

ว่ากันว่า เครื่องถมเมืองนคร เป็นหัตถศิลป์ชั้นสูงที่นิยมทำเป็นเครื่องราชบรรณาการ เครื่องราชูปโภค และของที่ระลึกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และมีการถ่ายทอดการทำเครื่องถมมานานกว่า 100 ปี มีโรงเรียนช่างถมนครศรีธรรมราช เปิดสอนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2456 ปัจจุบันใช้ชื่อว่า วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช  

ส่วนศูนย์เรียนรู้หัตถศิลป์ไทย เป็นอีกสถานที่ฝึกปรือให้ช่างถมมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เนื่องจากเป็นงานช่างทีี่ต้องใช้ทักษะหลายด้าน ต้องใช้ความละเอียดปราณีตมากกว่างานช่างด้านอื่นๆ ตั้งแต่การขึ้นรูปโลหะ แกะสลัก การผสมโลหะ และลงยาถม รวมถึงการเขียนลายไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ลายใบเทศ ลายกนก ลายประจำยาม ลายกระจัง และลาย 12 นักษัตร

วชิระ บอกว่า การทำเครื่องถมแบบดั้งเดิม จะขายสินค้าได้เฉพาะกลุ่มคนที่รู้จักเครื่องถมเท่านั้น จึงต้องพัฒนาให้ร่วมสมัย มีแนวใหม่ในเรื่องลวดลาย ทั้งภาชนะเครื่องใช้ และเครื่องประดับ พวกแหวนนโม ต่างหู ลูกปัด จี้ กำไล ฯลฯ 

เนื่องจากการทำเครืื่องถมเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาและทักษะเฉพาะตัว จึงมีราคาสูง ภาชนะเครื่องใช้บางชิ้นจึงทำตามออเดอร์เท่านั้น เท่าที่เห็นโชว์ในร้าน กระเป๋าถมทอง ราคากว่าสองแสนบาท ,กล้อง ของที่ระลึกที่ทำเป็นถมทอง ราคากว่า 9 หมื่นบาท ,กระเป๋าเล็กๆ ลายดอกราคากว่าหนึ่งแสนบาท ส่วนเครื่องประดับชิ้นเล็กชิ้นน้อย ราคาไม่สูงมากประมาณพันสองพันบาท

      “ผมมีลูกค้าเครื่องถมคนหนึ่งอยู่ที่เยอรมัน สมัยนั้นเขาเป็นลูกค้าเครื่องถมในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นร้านแรกๆ ของประเทศ เป็นร้านที่ทำให้ในวังด้วย เครื่องถมของเขาจะต่างจากเครื่องถมนคร เพราะงานของเราจะสลักลวดลายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีการผูกลายขึ้นใหม่ ผมอยากให้เครื่องถมนครฯ ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่โบราณ ไปไกลในระดับโลก ”  

เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาครัฐและเอกชน เมืองนครฯ จึงร่วมกันฟื้นฟูเครื่องถมนครฯ พาไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้หัตถศิลป์ไทย ได้เห็นการสาธิตการแกะสลักเครื่องถมด้วยสิ่วเล็กๆ ครูนิคมค่อยๆ บรรจงแกะสลักลวดลาย ซึ่งมีความละเอียดมาก และไม่ใช่ว่า ช่างทุกคนจะทำได้เหมือนกัน

“ถ้าเป็นคนในวงการจะรู้ว่า ชิ้นไหนเป็นงานเครื่องถมนครศรีธรรมราช ที่นี่เป็นเมืองต้นกำเนิดเครื่องถม บางคนก็บอกว่าถ่ายทอดมาจากคนโปรตุเกส ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน บางตำราก็ว่ามาจากชาวอินเดีย หรือชาวเปอร์เซีย เคยพบหลักฐานเป็นหีบสิ่งของ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็เคยส่งเครื่องถมนครฯไปถวายพระสันตะปาปา นอกจากนี้ เครื่องถมนคร ยังเป็นเครื่องราชบรรณาการไปหลายประเทศ” ครูศิลป์ของแผ่นดิน เล่า

อย่างไรก็ตาม วชิระ บอกว่า หากเครื่องถมนครฯ ยังมีรูปแบบและการออกแบบลวดลายแบบเดิมๆ ลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว ก็จะไม่กลับมาซื้ออีก จึงต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ในหนึ่งปีต้องมีแบบใหม่ๆ อย่างน้อย 5 แบบให้เลือก ซึ่งไม่เยอะ ผ่านไปสิบปี เราสามารถนำแบบเหล่านี้กลับมาใช้ได้อีก” วชิระ เล่า ในฐานะคนที่คลุกคลีกับเครื่องถมนครมาทั้งชีวิต

“เท่าที่ผ่านมา มีคนรุ่นใหม่มาเรียนกับเราเยอะ ถ้ามาเรียนประมาณยี่สิบคน เรียนจบจริงๆ แค่สามคน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอดทน และเมื่อพวกเขาไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แทนที่จะกลับมาเป็นช่างถมนครศรีธรรมราช ก็หายไปเลย" 

ส่วนในเรื่องคุณภาพเครื่องถม มีหลายระดับ หลายราคา สำหรับกลุ่มนี้จะมีทั้งรุูปแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย โดยเน้นการสลักลวดลาย

“งานเครื่องถมของเราไม่ใช่งานหล่ออย่างเดียว จะเน้นการแกะสลักลวดลาย บางแห่งจะหล่อลวดลายมาเลย แค่ลงถมอย่างเดียว ส่วนใหญ่ลูกค้าจะไม่รู้ว่า เครื่องถมถูกหรือแพงต่างกันยังไง ซึ่งตอนนี้ช่างถมรุ่นใหม่ไม่ได้ทำแบบช่างถมโบราณแล้ว มีการตัดทอนลวดลาย ให้ราคาต่ำลง และวัยรุ่นก็เริ่มหันมาสนใจเครื่องถมมากขึ้น "

   เบอร์ติดต่อ ร้านนครหัตถกรรม 082 4211140

 """""""""""""""""""""""

เครื่องถมแบบต่างๆ

-ถมดำ หรือถมเงิน เป็นเครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุด ทำด้วยเนื้อเงินไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ นำมาหลอม รีด เคาะ ขึ้นรูป แล้วสลักลวดลายสีเงินบนพื้นสีดำ มันแวววาว

 -ถมทอง เป็นการนำถมเงินมาทำให้มีสีมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยนำทองคำบริสุทธิ์มาหลอมกับปรอทบดให้ละเอียดนำมาทาทับเคลือบผิวถมเงิน หรือที่เรียกว่า เปียกทองทับบนเงินหรือลวดลายสีเงิน ทำให้เครื่องถมมีลวดลายสีทองบนพื้นดำ

-ถมตะทอง ใช้วิธีทาทองเคลือบผิวถมเงิน โดยการแต้มทองเป็นจุดๆ ให้เห็นลายดอก เป็นถมที่หายากกว่าถมเงินหรือถมทอง สมัยอยุธยานิยมทำถมตะทองมากกว่าถมทอง และปัจจุบันหาดูได้ยาก ไม่ค่อยนิยมทำแล้ว เพราะใช้ความละเอียดสูง