ผลงานวิจัยทุนภาคีบัณฑิต

ผลงานวิจัยทุนภาคีบัณฑิต

การศึกษาการผสมเกสรด้วยมือ และการใช้สารยืดอายุน้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่องตัวอย่างผลงานวิทยานิพนธ์ของนักเรียนทุนโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิต

การศึกษาการผสมเกสรด้วยมือ และการใช้สารยืดอายุน้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่อง, การศึกษาตำรับยาสมานแผลจากขมิ้น หมากข้าวสังข์หยดและมังคุด เพื่อต่อยอดเป็นแผ่นแปะแผลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ตัวอย่างผลงานวิทยานิพนธ์ของนักเรียนทุนโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2561

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 35 แห่ง ดำเนินโครงการผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนภาคธุรกิจและภาครัฐที่ต้องการนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและวิศวกรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนนักศึกษาในโครงการ 406 คน แบ่งเป็นระดับปริญญาโท 342 คน และระดับปริญญาเอก 64 คน

องค์ความรู้หนุนเศรษฐกิจ

การศึกษาหาเทคนิคยืดอายุน้อยหน่าโดย มยุรา ล้านไชย นิสิตปริญญาโท คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวและผลของสาร 1-เมทิลไซโคลโพรพีน ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของน้อยหน่าลูกผสมพันธุ์เพชรปากช่อง โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวิธีการผสมเกสรด้วยมือกับวิธีธรรมชาติ และการใช้สาร 1-เมทิลไซโคลโพรพีน พบว่า การผสมเกสรด้วยมือให้ผลที่ดีกว่าและสามารถควบคุมระยะการเก็บเกี่ยวได้ดี

ขณะที่การใช้สารยืดอายุผลไม้ที่ความเข้มข้น 2,000 พีพีบี เก็บช่วงระยะเวลาการเก็บที่ 1-2 เหมาะสำหรับการส่งออก เพราะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน 9 วัน ส่วนช่วงการเก็บที่ 3 เหมาะสำหรับตลาดในประเทศ เนื่องจากน้อยหน่ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งด้านกลิ่น รสชาติและเนื้อสัมผัส จากปกติจะอยู่ได้นาน 3-4 วัน

สำหรับตลาดส่งออกหลักของน้อยหน่าคือ ฮ่องกง มาเลเซีย แต่ยังไม่สามารถส่งออกจีนเพราะปริมาณการผลิตน้อย เนื่องจากเกษตรกรนิยมใช้วิธีการผสมเกสรตามธรรมชาติ ทำให้ยากต่อการคำนวณระยะการเก็บเกี่ยว ขณะที่การผสมเกสรด้วยมือก็ยังไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเวลานาน ในอนาคตอาจมีการศึกษาวิธีการผสมในรูปแบบอื่นที่สะดวกรวดเร็วและให้ผลดี เช่น การฉีดพ่น

ส่วนตำรับยาสมานแผลสูตรสมุนไพร สินีนาฏ สันพินิจ นักศึกษาระดับปริญญาเอก คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ทำการศึกษาฤทธิ์ต่อการหายของแผลและฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลองของตำรับยาสมานแผลที่มีสมุนไพรเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ ขมิ้น หมาก ข้าวสังข์หยดและมังคุด

จากการศึกษาพบว่า หลังจากรักษาบาดแผลด้วยตำรับยาสมานแผลดังกล่าวในรูปแบบยาขี้ผึ้ง ขนาดแผลเล็กลงอย่างนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในหนูที่เป็นเบาหวานและหนูปกติ ทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบ ในอนาคตมีแผนที่ต่อยอดด้วยการพัฒนาเป็นแผ่นแปะแผลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

หนุนสร้างนักวิจัยให้ประเทศ

โศรดา วัลภา นักวิจัยอาวุโส วว. ผู้ดูแลโครงการสร้างภาคีฯ กล่าวว่า โจทย์วิจัยของนักเรียนทุนจะมาจากภาคเอกชน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ เช่น การทดลองเชิงลึกที่มีความน่าเชื่อถือมาสนับสนุนงานวิจัยนวัตกรรมของนักวิจัย วว. เช่น การทดสอบฤทธิ์ในระดับเซลล์ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรืออาหาร เพื่อสนับสนุนคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เป็นต้น

สำหรับงบสนับสนุนต่อหนึ่งโครงการระดับปริญญาโท 80,000 บาทต่อปี ระยะเวลา 2 ปี รวมเป็น 1.6 แสนบาทต่อคน ส่วนปริญญาเอก 80,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็น 2.4 แสนบาทต่อคน เป็นการเบิกจ่ายตามความเป็นจริงจากกรอบตัวเลขที่ระบุไว้ ไม่ได้ให้เป็นเงินก้อน อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยต่อปี โครงการนี้จะได้การจัดสรรงบ 8 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาใช้ไป 60% ส่วนที่เหลือ 40% คืนรัฐ

ส่วนแนวทางต่อไปของโครงการนี้ ทางผู้บริหารต้องการให้ขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยให้นักศึกษาทุนจากต่างประเทศมาเป็นผู้ช่วยทำงานวิจัย จะทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาในสายนี้ จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร ทั้งนี้ เนื่องจาก วว.เป็นหน่วยงานให้การสนับสนุนเพื่อสร้างนักวิจัยวิทยาศาสตร์แต่ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการผลิตบัณฑิตของประเทศ

“ที่ผ่านมา วว.ช่วยสร้างนักวิจัยวิทยาศาสตร์ออกไปทำงานได้เร็วขึ้นภายใน 2-3 ปี เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในแง่ของเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งมีนักวิจัยพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จูงใจนักศึกษาเข้ามาร่วมโครงการ ส่วนเป้าหมายในอนาคตต้องการเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคโนโลยีที่มีคุณภาพของประเทศ โดยอาจจะจัดโรดโชว์มหาวิทยาลัยมากขึ้น” โศรดา กล่าว