วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (12 ก.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (12 ก.ย.61)

กังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หนุนราคาน้ำมันดิบขึ้นกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบโลกจะตึงตัวขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านคาดจะปรับตัวลดลง หลังมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นในเดือน พ.ย. 61 ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบและคอนเดนเสทจากอิหร่าน นำโดย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย

+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังผู้ผลิตในสหรัฐฯ ชะลอการขุดเจาะน้ำมันดิบลง เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบของแหล่ง Permian ถูกใช้งานเต็มกำลังการขนส่งแล้ว โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะอยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐฯ เรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบียคงกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่อง ในการประชุมวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐฯ กังวลอุปทานของอิหร่านที่หายไปจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยสหรัฐฯ จะมีการพูดคุยกับรัสเซียในวันนี้

- ภายหลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 8.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 800,500 บาร์เรล หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ คงกำลังการกลั่นในระดับสูง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงซื้อขายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับสูง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 76-81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • สำนักข่าว Reuters เผยปริมาณการส่งน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 ลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านนับตั้งแต่ 4 พ.ย. 61 นี้เป็นต้นไป
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากท่าเรือขนส่งน้ำมันหลักของประเทศได้มีการหยุดดำเนินการลง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกัน
  • จับตาการการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปคในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่หายไปหรือไม่

------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999