B10อนาคตใหม่เพื่อเกษตรกร

B10อนาคตใหม่เพื่อเกษตรกร

โครงการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลB10 นำร่องทดสอบรถกระบะ 8 คันและรถยนต์ของหน่วยงานรัฐ หวังสร้างความเชื่อมั่น ก่อนชงรัฐบาลหนุนใช้จริง หลังเสร็จสิ้นโครงการกลางปีหน้า

ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอด “เอช-เฟม” เชื้อเพลิงจากญี่ปุ่นให้เป็นไบโอดีเซลคุณภาพสูง ภายใต้โครงการ สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)


พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ 2 โรงงานต้นแบบ คือ โกลบอลกรีนเคมิคอลและบางจากไบโอฟูเอลในการเพิ่มคุณภาพเอช-เฟมแล้วนำไปผสมไบโอดีเซลเป็น B10 นำร่องทดสอบรถกระบะ 8 คันและรถยนต์ของหน่วยงานรัฐ หวังสร้างความเชื่อมั่น ก่อนชงรัฐบาลหนุนใช้จริง หลังเสร็จสิ้นโครงการกลางปีหน้า


เอช-เฟม เพิ่มโอกาสไบโอดีเซล

 สมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ พพ. กล่าวว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ


“การใช้น้ำมันไบโอดีเซลก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ ซึ่งมีการใช้เพิ่มชึ้นทุกปี จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยกว่า 60 ล้านบาทให้ดำเนินโครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” ด้วยการพัฒนา B10 ขึ้นมาใช้ในอนาคต”
โดยคัดเลือกโรงงานผลิตไบโอดีเซลต้นแบบ 2 ราย ได้แก่ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) และบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เอช-เฟม ซึ่งเป็นการผลิตไบโอดีเซลที่มีคุณสมบัติทางเชื้อเพลิงสูงกว่าไบโอดีเซลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และทดสอบใช้กับรถกระบะ 8 คัน ระยะวิ่งทดสอบของแต่ละคันประมาณ 1 แสนกิโลเมตร คาดว่าจะสรุปผลโครงการได้กลางปี2562


สมชาย กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กำหนดใช้ไบโอดีเซล B100 ปริมาณ 14 ล้านลิตรต่อวันจากปัจจุบัน 4 ล้านลิตรต่อวัน แต่ปัจจุบันสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อาจส่งผลต่อตัวเลขการใช้ไบโอดีเซลที่เคยกำหนดไว้
ธนชิต มกรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพื่อหาแนวทางพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพไบโอดีเซลให้เป็นไปตามข้อเสนอของกลุ่มยานยนต์ ซึ่งเทคโนโลยีที่โครงการเลือกใช้ คือ เอช-เฟม พร้อมทั้งได้ทำการปรับปรุงระบบการผลิตให้เป็นโรงงานสาธิตขนาดกำลังการผลิต 500 กิโลกรัมต่อวัน นำไปทดสอบใช้งานจริงกับเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนที่สูงขึ้นในอนาคต


สร้างสมดุลราคาน้ำมันปาล์ม


นุวงศ์ ชลคุป นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เอ็มเทค กล่าวว่า จากการศึกษาเทคโนโลยีเอช-เฟมเชิงเทคนิคการผลิตและประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งสามารถผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงออกมาใช้งานได้จริง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลักดันการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในอนาคต 


เป้าหมายของโครงการวิจัยเพื่อกระตุ้นให้ใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ และสร้างสมดุลราคาน้ำมันปาล์มในประเทศ ส่วนเหตุผลที่ไม่ทำไบโอดีเซล 100% เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์โดยเป็นเพียงฐานการผลิตรถญี่ปุ่น ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นไม่ใช้ไบโอดีเซลแตกต่างจากไทยที่มีนโยบายนำสิ่งที่เหลือจากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดความยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนในส่วนที่เป็นผลผลิตที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมอาหาร


ขณะเดียวกัน รถยนต์ที่ออกแบบมาให้ใช้กับพลังงานฟอสซิล เมื่อนำมาใช้กับไบโอดีเซล ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีต่างกัน แม้จะใช้กันได้แต่จะใช้ได้ในสัดส่วนแค่ไหนนั้น จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาผสมสูตรที่เหมาะสม ปัจจุบันรถยนต์ยอมรับการใช้ไบโอดีเซลได้ที่ 7% หรือ B7 ดังนั้น การขยับสัดส่วนเป็น 10% หรือที่เรียกว่า B10 ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งยังถือเป็นการช่วยเกษตรกร เพราะเป็นการเพิ่มอุปสงค์น้ำมันปาล์ม ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ผันผวนและลดการนำเข้าพลังงานอีกด้วย