พม. กำหนดทิศทาง ปี 62 ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พม. กำหนดทิศทาง ปี 62 ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พม. กำหนดทิศทาง ปี 62 ยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายในนิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง

วันนี้ (5 ก.ย. 61) เวลา 13.30 น. นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) มอบนโยบายการขับเคลื่อนนิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง และศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้าน สหกรณ์ตามพระราชดำริฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ 2562 ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
 
นายปรเมธี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาสังคม การจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ แก่คนไร้ที่พึ่ง ผู้กระทำการขอทาน สมาชิกนิคมสร้างตนเอง ราษฎรบนพื้นที่สูง และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ผ่านการดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วย การจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับนิคมสร้างตนเอง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และตามโครงการพระราชดำริ โครงการตามพระราชประสงค์ โดยมีหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับ ดูแล และติดตาม จำนวน 63 หน่วยงาน ประกอบด้วย นิคมสร้างตนเอง 43 แห่ง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 16 แห่ง และศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชดำริฯ 3 แห่ง รวมทั้งพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่
 
นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 มีการขับเคลื่อนงานตามประเภทของหน่วยงาน ดังนี้ 1) นิคมสร้างตนเอง ขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 อาทิ โครงการแก้ไข ปัญหา ที่ดินทำกิน และโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพประชากรเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซ่อมแซมบ้านเรือน ราษฎรยากจนและด้อยโอกาส) และแผนถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง ตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 โดยยกร่าง แผนฯ 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 (7 ปี) จำนวน 8 นิคมฯ ระยะที่ 2 (10 ปี) จำนวน 9 นิคมฯ ระยะที่ 3 (12 ปี) จำนวน 18 นิคมฯ และ ระยะที่ 4 (18 ปี) จำนวน 8 นิคมฯ 2) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ขับเคลื่อนงานตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องชาวเขา ตามแผนงานโครงการ อาทิ โครงการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรม (ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง) ซึ่งดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ตาก และอุทัยธานี โดยมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณี ชนเผ่า และเสริมสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมสวัสดิการชุมชน และลดอัตราการอพยพ ย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง และ 3) ศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชดำริฯ ขับเคลื่อนงานตามพระราชประสงค์ และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามแผนงานโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพ ประชากรในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการพระราชดำริ และพระดำริ
 
นายปรเมธี กล่าวต่ออีกว่า ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานประจำปี งบประมาณ 2562 สำหรับ นิคมสร้างตนเอง ได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เป็นสำคัญ ควบคู่กับแผนถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง โดยมีการจ้างเอกชนเข้ามารังวัดที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาช่างรังวัดของ พส. ไม่เพียงพอ การแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อน ด้วยนโยบาย One Map การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของนิคมสร้างตนเอง โดย ประสาน ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานที่ดิน เช่น กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) เพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวทางการถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเงื่อนไขการถอนสภาพนิคมสร้างตนเองให้เร็วขึ้น จากเดิมต้องมีการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (นค.3) ครบร้อยละ 100 จะขอปรับเป็นร้อยละ 80 %
 
"นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของราษฎรบนพื้นที่สูง ด้วยการส่งเสริม สวัสดิการแก่กลุ่มเป้าหมาย เช่น การพัฒนากลุ่มอาชีพและสวัสดิการชุมชนสู่ชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน การขับเคลื่อนโครงการท่องเที่ยวภูมิวัฒนธรรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และการขับเคลื่อนศูนย์ประสานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ ตามพระราชดำริ ฯ โดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายปรเมธีกล่าวในตอนท้าย