อ้างผลวิเคราะห์ธนาคารโลก ชี้ขัดแย้งไทยยังอยู่ แม้มีเลือกตั้ง

อ้างผลวิเคราะห์ธนาคารโลก ชี้ขัดแย้งไทยยังอยู่ แม้มีเลือกตั้ง

"บวรศักดิ์" อ้างผลวิเคราะห์ธนาคารโลก ชี้ความขัดแย้งยังอยู่ แม้ผ่านการเลือกตั้ง ระบุมีปัญหาใหญ่ 3 ด้าน

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการปฏิรูปกฎหมายกับสังคมไทยในอนาคต ในงานสัมมนาวิชาการ 20 ปี การสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่งโดยย้ำถึงความสำคัญของการปฏิรูปกฎหมาย เป็นกลไกแก้ปัญหาทางการเมือง พร้อมมองว่าปัญหาของประเทศไทยมีประเด็นสำคัญ 3 อย่าง คือ 1.การปกครองรวมศุนย์อำนาจ และมีกฎหมายที่ไม่ดีเท่าที่ควร, 2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ช่วง30 ปี ที่ผ่านมา ที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ สร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม จนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง และ 3.ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์พัฒนา เชื่อมสังคมไทยกับโลก จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถึงปัจจุบัน สถิติที่สะท้อนชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์ได้ยุติผลในเชิงบวก เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถือว่าเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เมื่อเทียบกับ สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจของเราที่ช้ากว่าประเทศในเออีซี นั้น แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ​ที่ทำมา 30 ปีนั้นหมดมนต์ขลังแล้ว และจากสถิติพบว่าคนไทย เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ครองความมั่นคั่ง หรือมีเพียง 50 คนที่ถูกจัดว่าเป็นมหาเศรษฐี ที่มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศไทย ทำให้เห็นว่าการพัฒนาของไทยไม่ยั่งยืน ทั้งนี้ผลวิเคราะห์ของธนาคารโลก ในปี 2559 พบว่าการเจริญเติบโตของประเทศไทยเติบโตด้วยดี แม้จะผ่านการรัฐประหารมาหลายรอบ แต่เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ธนาคารโลกยังตั้งข้อสังเกตว่าจะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล หมายถึง ความขัดแย้ง ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 และจะยังมีต่อไป แม้ความขัดแย้งจะสงบได้ แต่เป็นเพราะอำนาจสูงสุดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้วรากฐานของความแตกแยกยังอยู่ โดยบทสรุปของผลวิเคราะห์จากธนาคารระบุว่าเมื่อประเด็นดังกล่าวดำรงอยู่ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลจะทำได้ยาก

"สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ ผมมองว่า ต้องเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม หรือเรียกว่า ยุทธศาสตร์ชุมชนพัฒนา รวมถึงส่งเสริมยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์พัฒนา สิ่งไหนดีต้องทำต่อไป รวมถึงการใช้เครื่องมือ คือ กฎหมาย เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา รวมถึงเป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มขีดการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เราได้เปรียบ ขณะที่ความสำร็จด้านการปฏิรูปนั้นตนมองว่าขึ้นอยู่กับการตอบรับของประชาชนด้วย ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนจากรัฐบาลเท่านั้น" นายบวรศักดิ์ กล่าว