รมว.สธ.นำเต้น 'Chicken Dance' กระตุ้นคนไทยขยับร่างกายมากขึ้น

รมว.สธ.นำเต้น 'Chicken Dance' กระตุ้นคนไทยขยับร่างกายมากขึ้น

"นพ.ปิยะสกล" กระตุ้นคนไทยขยับร่างกายมากขึ้น หลังพบมีพฤติกรรมเนือยนิ่งถึง 14 ชม.ต่อวัน นำสู่เสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมนำเต้น "Chicken Dance"

ภายในการประชุมมหกรรมสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อ (NCDs Forum 2018 ) ภายใต้แนวคิด “Together, Let’s beat NCDs : ประชารัฐร่วมใจลดภัย NCDs” เมื่อเร็วๆนี้ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) พร้อมด้วยนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดสธ. คณะที่ปรึกษารมว.สธ. และผู้บริหารสธ.นำเต้น Chicken Dance เพื่อเป็นการขยับต้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนำเต้นดังกล่าวเพื่อเป็นต้นแบบในการกระตุ้นให้สังคมลดปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การเกิดโรคNCDs โดยมุ่งเน้นให้มีการขยับร่างกายในแต่ละวันเพิ่มมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ขณะนั่งทำงานหรือประชุมิ ทั้งนี้ ในการประชุมผู้บริการระดับสูงของสธ.หรือประชุมระดับกรมต่างๆของสธ.ระหว่างการประชุมก็จะมีการเต้น Chicken Dance หรือการออกกำลังกายยืดเหยียดเป็นประจำ แม้แต่ในการประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลกหรือฮู ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลก็ได้นำคณะผู้เข้าร่วมประชุมออกท่ากายบริหารระหว่างการประชุม จนได้รับคำชื่นชมจากนาๆประเทศด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลกรมอนามัย ระบุว่าจากผลสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน 1 ใน 3มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจำนวนถึง 2 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอแต่กลับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือการนั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง

สำหรับการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560 - 2564) ได้ดำเนินการตาม 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.พัฒนานโยบายสาธารณะและกฎหมายที่สนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ อาทิ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย น้ำมันและอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันทรานส์ ยุทธศาสตร์เกลือและโซเดียม ภาษีน้ำตาล สัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) การปฏิบัติตามกฎหมายบุหรี่และสุรา 2.เร่งขับเคลื่อนทางสังคมสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ 3.การพัฒนาศักยภาพชุมชน/ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ตำบลจัดการสุขภาพ สถานประกอบการปลอดโรคปลอดภัย 4.พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการข้อมูล มีศูนย์ข้อมูลกลางเชื่อมโยงทุกระดับ ระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยงระดับองค์กรและกลุ่มประชากรเฉพาะ 5.ปฏิรูปการจัดบริการเพื่อลดเสี่ยงและควบคุมโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคและบริบทพื้นที่ เช่นคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในโรงพยาบาลทุกระดับ ทีมหมอครอบครัว และ 6.พัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างบูรณาการ