ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เติมนวัตกรรมญี่ปุ่น

ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า เติมนวัตกรรมญี่ปุ่น

เอกชนญี่ปุ่นส่งความชำนาญและนวัตกรรมมอเตอร์ในวงล้อสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมยกระดับตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไทย หวังเพิ่มความปลอดภัย เสริมประสิทธิภาพการขับขี่ ช่วยประหยัดพลังงาน หวังมีส่วนร่วมในนโยบายกระทรวงพลังงานและเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าของโลก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ไดแนกซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าโดยใช้มอเตอร์ในวงล้อ (In-wheel motor) ในการขับเคลื่อน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ระยะเวลาศึกษา 8 เดือน

มจธ.ผนึกญี่ปุ่นทดสอบประสิทธิภาพ

นายโคจิ อากิตะ ประธานไดแนกซ์ฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือครั้งนี้ หลังจากมีโอกาสมาเยี่ยมชม มจธ.ในช่วงปลายปี 2560 และได้รับรู้ถึงโครงการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของไทย จึงมีความสนใจและพูดคุยกับบริษัท เอ็กเซดี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย ทั้งมีความร่วมมืออยู่กับ มจธ. ก่อนที่จะตัดสินใจนำเทคโนโลยีมอเตอร์ในวงล้อที่ไดแนกซ์มีความเชี่ยวชาญมาประยุกต์ใช้กับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ผ่านการสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนการเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊กให้เป็นรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า (eTukTuk) เพื่อนำร่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถสาธารณะ โดยมอบหมายให้ มจธ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งจะนำร่อง 100 คันแรกภายในปี 2561

การดำเนินการแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ระยะสาธิตเทคโนโลยี โดยรถตุ๊กตุ๊กประเภทรับจ้าง 10 คันจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า สูงสุด 3.5 แสนบาทต่อคัน ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการครบ 10 คันแล้ว ส่วนระยะที่ 2 ระยะทดลองตลาด โดยกลุ่มประเภทรถรับจ้างและประเภทส่วนบุคคล 90 คัน จะได้รับสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนรถ 85% ของราคาตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สูงสุดประมาณ 3 แสนบาทต่อคัน และจะทยอยเปลี่ยนให้ครบ 2.2 คันทั่วประเทศภายใน 5 ปี

ผศ.ยศพงษ์ ลออนวล ประธานคณะทำงานคลัสเตอร์วิจัยด้านยานยนต์ กล่าวว่า มอเตอร์ในวงล้อของไดแนกซ์มีจุดเด่นคือ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และประสิทธิภาพสูงเหมาะแก่การใช้งานกับรถตุ๊กตุ๊ก ดังนั้น การใช้งานมอเตอร์ในวงล้อมากกว่าหนึ่งชุด จำเป็นต้องออกแบบระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่

เป้าหมายหลักของการศึกษาวิจัยในโครงการนี้คือ การออกแบบโครงสร้างของระบบพลังงานและระบบควบคุมของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีมอเตอร์ในวงล้อ เพื่อปรับปรุงรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งใช้มอเตอร์แบบลาก (Traction motor) 1 ชุดในการขับเคลื่อนมาใช้มอเตอร์ในวงล้อ 2 ชุดแทน จากนั้นก็ศึกษาประสิทธิภาพการทำงานโดยเปรียบเทียบกับรถตุ๊กตุ๊กแบบเดิม

“จากเดิมที่เครื่องยนต์และมอเตอร์ของรถตุ๊กตุ๊กจะอยู่บริเวณที่นั่งผู้โดยสาร และขับเคลื่อนบังคับล้อซ้ายและขวาผ่านเพลา ทำให้เมื่อต้องเข้าโค้ง ล้อทั้ง 2 ด้านจะมีแรงหมุนที่ไม่เท่ากัน จนล้ออีกฝั่งยกขึ้นสูงจากพื้น ทำให้ไม่ปลอดภัย แต่หากปรับมาใช้มอเตอร์ในวงล้อ ล้อซ้ายและขวาก็จะทำงานอย่างอิสระ เคลื่อนที่และบังคับได้เสมือนรถยนต์ทั่วไป ทำให้การขับขี่มีความเสถียรและปลอดภัย” กิตติ์ชนน เรืองจิรกิตต์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว