สทอภ.ย้ำธีออส-2 วงเงิน 7 พันล.โปร่งใส-ตรวจสอบได้

สทอภ.ย้ำธีออส-2 วงเงิน 7 พันล.โปร่งใส-ตรวจสอบได้

สทอภ.แถลงชี้แจงการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้าง ธีออส-2 วงเงิน 7,000 ล้านบาท หลังถูกถูก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ตั้งข้อสังเกตผ่านบทความ “ซื้อดาวเทียม: จงใจปิดบัง ตั้งใจเลี่ยงกฎหมาย”

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.แถลงข่าวการดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส-2 ย้ำความสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งมีมาตลอดการดำเนินโครงการ โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นผู้แถลงข่าว ในเย็นวันนี้ (7 ส.ค.) 

โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือโครงการ THEOS-2  เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อการจัดหาดาวเทียมถ่ายภาพทดแทนดาวเทียมไทยโชตในปัจจุบันที่ครบอายุการใช้งาน และระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการประยุกต์ใช้งานที่ทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลทุกชุดให้ความสำคัญ และสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง


นายอานนท์ กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ THEOS-2 ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร สทอภ. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 เป็นโครงการที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาทางด้านสังคมเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงในระยะยาว โดยการจัดหาดาวเทียมและนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อการตัดสินใจหรือ Actionable Intelligence Policy หรือ AIP เพื่อการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่และสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง AIP เป็นระบบที่ยังไม่เคยมีการใช้งานมาก่อนในประเทศไทย รวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มีระบุถึงการใช้ AIP เป็นเครื่องมือเพื่อการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์และบริหารจัดการพื้นที่แบบครบวงจร 

สำหรับการดำเนินงานโครงการ THEOS-2 สทอภ. ได้ให้ความสำคัญกับหลักสุจริตและความโปร่งใสในกระบวนการจัดหาตามหลักปฏิบัติสากลมาโดยตลอด โดยมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างไปจากโครงการ THEOS-1 ที่ลงนามในสัญญาเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษที่ซื้อตรงจากบริษัท Astrium แต่โครงการ THEOS-2 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบการประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Competitive Bidding: ICB) โดยที่โครงการ THEOS-2 ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนที่ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะบังคับใช้ ดังนั้น การกำหนดวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร สทอภ. ตามนัยของมาตรา 128 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการบริหารก็ได้ให้ความเห็นชอบต่อ Instructions To Bidders (ITB) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้ประกาศและจัดประชุมเพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามแก่ผู้ซื้อซองทุกรายไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560
  เนื่องจาก โครงการ THEOS-2 เป็นโครงการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในหลายด้าน และไม่ได้มีเป็นแบบสำเร็จรูปในท้องตลาด แต่ต้องพัฒนาและบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ที่มีความเฉพาะสำหรับประเทศไทย สทอภ.จึงได้ใช้แนวทางการจัดหาโดยวิธีประกวดราคาแบบนานาชาติ (ICB) ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนจากทุกประเทศที่มีศักยภาพสามารถเข้าแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ITB ที่ สทอภ. ยกร่างขึ้นนั้น ตอบทั้งความต้องการของประเทศ ตามที่ สทอภ. ได้เคยรวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ในช่วงของการพัฒนาโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2554 และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ให้สิทธิ สทอภ. ในฐานะเจ้าของโครงการฯ ในการใช้วิจารณญาณเลือก Successful Bidders ที่ให้ประโยชน์สูงสุดในองค์รวม ซึ่งผลการคัดเลือกปรากฏว่ามีผู้ผ่านการพิจารณาจำนวน 2 ราย จึงแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการล็อคสเปคแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สทอภ. มีเจตนารมณ์ในการทำงานตามหลักความโปร่งใส จึงได้เลือกสมัครเข้าโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมได้สอบถามและขอข้อมูลของโครงการฯ ในแง่มุมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สทอภ.ไม่เคยเพิกเฉย และได้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริงในทุกประเด็น รวมทั้ง ให้ความร่วมมือทุกครั้งในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแก่คณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เนื่องจากอาจจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม  นอกเหนือจากการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมแล้ว ก็มีหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่งได้สอบถามและขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ THEOS-2 ซึ่ง สทอภ. ก็ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทำนองเดียวกันกับที่ให้คณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วงเพิ่มเติมหรือเสนอแนะให้ยุติการดำเนินโครงการแต่อย่างใด รวมทั้งได้มีการชี้แจงต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนด้วย

สำหรับกรณีที่มีผู้เสนอให้มีการเปิดเผยรายงานผลการสังเกตการณ์ (Notification Report) ของคณะผู้สังเกตการณ์นั้น รายงานดังกล่าวมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านเทคนิคและอื่นๆ ที่เป็นความลับทางการค้าของผู้ยื่นซองประกวดราคา จำนวน 7 ราย ซึ่งตาม ITB กำหนดไว้โดยสรุปว่า สทอภ. ต้องเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ สำหรับในส่วนของ Statement of Work ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างนั้น ก็เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการดำเนินการของผู้รับจ้าง ซึ่งในสัญญาได้กำหนดไม่ให้เปิดเผยข้อมูลโดยทั่วไป แต่สามารถเปิดเผยให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้ตามความจำเป็น 

ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง สทอภ. ได้ขอคำแนะนำจากการดำเนินการในส่วนต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นตอนการลงนามในสัญญาที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้กระบวนการและเงื่อนไขต่างๆ ของการประกวดราคาตลอดจนถึงการบริหารสัญญามีความเป็นธรรม โปร่งใส และถูกต้องทั้งทางด้านเทคนิค ด้านราคา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี