เข็มจิ๋วจากน้ำตาล พลิกโฉมอุตฯเข็มฉีดยา

เข็มจิ๋วจากน้ำตาล พลิกโฉมอุตฯเข็มฉีดยา

“แผ่นแปะฉีดวัคซีน” ผลงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชูจุดเด่นผลิตจากน้ำตาล ละลายเร็ว ต้นทุนต่ำ สามารถนำส่งยา อินซูลิน ฮอร์โมน สารบำรุงผิวตอบโจทย์อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและสมุนไพร

พลิกโฉมวงการแพทย์ด้วย “แผ่นแปะฉีดวัคซีน” สิ่งประดิษฐ์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชูจุดเด่นผลิตจากน้ำตาล ละลายเร็ว ต้นทุนต่ำ สามารถใช้นำส่งยา อินซูลิน ฮอร์โมน สารบำรุงผิวตอบโจทย์อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอางและสมุนไพร


160 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการเข็มฉีดยาการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า ผู้ที่เป็น โรคกลัวเข็มมีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับจำนวนของวัคซีนที่ต้องฉีดก็เพิ่มขึ้นกว่าในอดีต 4-5 เท่า และหากพิจารณาตลาดเข็มฉีดยา ซึ่งคาดการณ์ว่า 6 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าถึง 4,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 130 ล้านล้านบาท ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การฉีดยาเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ต้องกลัว (เจ็บ) อีกต่อไป


เข็มละลายเร็ว ฉีดไม่เจ็บ


นักวิจัยทั่วโลกพยายามพัฒนาเข็มจิ๋ว ( Microneedle) มีขนาดระดับไมครอน และสามารถย่อย สลายได้เมื่อนำยาเข้าสู่ร่างกาย ที่สำคัญไม่เจ็บเพราะมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรหรือ1,000 ไมครอนเจาะผ่านผิวหนังด้านบน แต่ไม่สัมผัสเซลล์ประสาทที่รับรู้ความเจ็บปวด จึงไม่รู้สึกเจ็บ ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนกลัวเข็ม


ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการพัฒนาและนำมาใช้ในการฉีดวัคซีนในรูปแบบที่เรียกว่า แผ่นแปะ (Microneedle Patch) เป็นแผงเข็มจิ๋ว 100 เข็มที่มีวัคซีนผสมอยู่ โดยใช้กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แค่กดลงบนหลังมือเมื่อเข็มละลายจะปลดปล่อยวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ล่าสุดผ่านการทดสอบเฟสแรกในคนแล้ว พบว่า 70% อาสาสมัครพึงพอใจและอยากให้นำมาใช้แทนเข็มฉีดยา


อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของแผ่นแปะดังกล่าวคือ ผลิตมาจากโพลิเมอร์ชนิดละลายได้ช้า ต้องกดแช่ไว้ 20 นาทีจนกว่าเข็มจะละลาย จึงเป็นช่องว่างให้ ผศ.วีระยุทธ ศรีธุระวานิช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนาเข็มฉีดยาขนาดไมครอนจากสารละลายน้ำตาลมอลโตส สามารถขึ้นรูปได้ที่อุณหภูมิต่ำ ลักษณะของเข็มเป็นรูปทรงกรวยหรือปิรามิดฐานหลายเหลี่ยม มีความสูงของตัวเข็มตั้งแต่ 100 - 3,000 ไมครอน สามารถเลือกประเภทของสารสำคัญที่ต้องการนำส่งได้อย่างอินซูลิน ยา วัคซีน ฮอร์โมน สารบำรุงผิวหรือสารสมุนไพร


จุดเด่นของสิ่งประดิษฐ์นี้คือ สามารถขึ้นรูปได้ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้สารสำคัญไม่เสื่อมสภาพ เข็มละลายได้รวดเร็วต้นทุนต่ำ เหมาะสำหรับพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และในอนาคตจะพัฒนาขึ้นรูปเข็มหรือเคลือบบนตัวเข็มเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่กลัวเข็ม


“สิ่งประดิษฐ์ของเราสามารถแข่งขันกันแผ่นแปะนำเข้าได้ เพราะละลายได้เร็วกว่า ไม่ต้องกดแช่ไว้นาน และในอนาคตสามารถพัฒนาให้รองรับการนำส่งสารประเภทต่างๆ ได้หมด ไม่ว่าเป็น วัคซีน อินซูลิน เครื่องสำอางและอีกตัวที่มีศักยภาพคือสมุนไพรไทย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาว่า ถ้านำส่งในรูปของการฉีดแทนการทาหรือรับประทานเป็นส่วนใหญ่ หากนำมารวมกันจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่น่าสนใจ โดยนำไปต่อยอดธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มได้”


ต่อยอดสู่ธุรกิจยา เครื่องสำอาง


ผศ.วีระยุทธ กล่าวอีกว่า เข็มจิ๋วยังช่วยลดปริมาณของวัคซีนลง 30% นั่นหมายความว่า การใช้สารวัตถุดิบตั้งต้นผลิตก็ลดลงด้วย ขณะนี้ได้ร่วมพัฒนากับองค์การเภสัชกรรม และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อนำส่งวัคซีนต่างๆ ขณะเดียวกันต้องการหาผู้ประกอบการที่สนใจจะทดลองนำไปใช้กับสารอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ อินซูลิน เครื่องสำอาง สมุนไพร เพื่อเป็นแพลตฟอร์มใหม่วงการยาและเครื่องสำอาง


นอกจากนี้ยังได้พัฒนาในรูปแบบนวัตกรรมต่างๆ เช่น เข็มละลายได้จากไหมไทย ลูกกลิ้งแบบใช้แล้วทิ้ง เข็มกลวงที่บรรจุยาฉีดเข้าไปได้ หรือเข็มที่ต่อเข้ากับกระบอกฉีดใช้ทดแทนเข็มที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ล่าสุดจากการทดลองฉีดที่ตาหมู พบว่า เข็มใช้เวลาในการละลายไม่ถึง 10 วินาที แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตามีปริมาณน้ำที่เยอะกว่าผิวหนัง และ น้ำตาลมีการละลายเร็วกว่าโพลิเมอร์อยู่แล้ว จึงละลายได้เร็ว


  “กรณีที่แต่ละคนใช้ขนาดยาไม่เท่ากันนั้น ในอนาคตคงต้องทำขนาดให้เหมาะสมกับความต้องการ S M L หรือ ทำขนาดเดียวแต่บางคนอาจต้องใช้ 2 แผ่นแปะ เป็นต้น ต่อไปนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการฉีดยาได้เอง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องฉีดด้วยตัวเองอย่างผู้ป่วยเบาหวาน หรือแม้แต่การฉีดวัคซีนบางชนิด ไม่ต้องไปสถานพยาบาลสามารถฉีดเองได้เพราะปลอดภัย เพียงแค่ใช้แรงกดให้เข็มเจาะผ่านผิวหนังเท่านั้น” ผศ.วีระยุทธ กล่าว และว่า ปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรโดยสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาฯ (CUIP)