ชีวิต 'ราตรี' จากนวนิยายรางวัล กำลังสร้างให้โลดแล่นบนจอภาพยนตร์

ชีวิต 'ราตรี' จากนวนิยายรางวัล กำลังสร้างให้โลดแล่นบนจอภาพยนตร์

เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ได้!! ชีวิต "ราตรี" จากนวนิยายรางวัล กำลังสร้างให้โลดแล่นบนจอภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ "ปรีชา สาคร" ผู้กำกับฯหนังสั้นมากรางวัล มีความคืบหน้าอยู่เป็นระยะ ซึ่งได้เผยถึงที่มาของความสนใจเกี่ยวกับนวนิยาย "ราตรี" เพื่อมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ว่า ราตรี เป็นผลงานของ ศักดา สาแก้ว บัณฑิตสาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รางวัลนวนิยายดีเด่นรางวัล Young Thai Artist Award ปี 2007 ของมูลนิธิซิเมนต์ไทย

3

ราตรีเล่าเรื่องราวของเด็กหญิงผิวดำ ผมหยิกลูกครึ่งแอฟริกัน-ไทย ผู้ซึ่งโหยหาความรักจากผู้ที่เป็นพ่อและแม่ โดยที่ตัวเองก็ยังไม่ทราบว่าพ่อและแม่เป็นใคร อาศัยอยู่กับตาและยาย บนที่ดินท้ายหมู่บ้าน มีอาชีพทำนา ทำไร ทำสวน ตามกำลังตัวเอง 

4_30

อาชีพเสริมคือขายเครื่องจักยานเป็นการยังชีพ อยู่อย่างสมถะ พออยู่พอกิน โดยคนในหมู่บ้านชอบหาเรื่องครอบครัวเด็กน้อยอยู่เนืองๆ เนื่องจากรูปร่างหน้าตาแปลกแยกจากคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนเกเรที่เรียนห้องเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็กน้อยรักมักจะไม่สมหวังและต้องไม่แคล้วที่จะพลัดพรากจากกัน

5_24

นอกจากพ่อแม่แล้ว ยังมีตาผู้ล่วงลับ ยายที่ป่วยตายเพราะเป็นวัณโรค แถมยังโดนกล่าวหาว่าเป็นปอบ บ้านที่ถูกเผา แม้กระทั่งห่านกำพร้าที่เด็กหญิงสมมติตัวเองว่าเป็นแม่ก็ยังโดนสุนัขพันธุ์ฝรั่งของผู้ใหญ่บ้านกัดตายอย่างไร้ความรับผิดชอบ

3_32

"ชีวิตของเด็กหญิงล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญเรื่องราวเลวร้าย จนในที่สุดเธอจึงพบกับลุงใจดี และป้าวิกลจริต ที่มีปมการสูญเสียลูกสาวอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ จากการสูญเสียคนที่รักของเด็กหญิงและการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของลุงใจดีและป้าวิกลจริต อย่างน้อยมันก็ทำให้ความรักของทั้ง 3 คน สามารถเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ได้" ปรีชา เผย

ส่วนความน่าสนใจของ นวนิยายราตรี มองว่ามันคือ การนำเสนอภาพของกลุ่มคนชายขอบในสังคม กล่าวคือ ราตรี ที่เป็นลูกครึ่งแอฟริกัน ผิวพรรณที่ต่างจากคนอื่น มิหนำซ้ำยังขาดความรัก ความเอ็นดูจากพ่อแม่ที่แท้จริง โดนเพื่อนแกล้ง โดยมีเหตุผลแค่เพียงว่า ราตรีต่างจากคนอื่น ยายแจ่มที่เป็นใบ้ ถูกริดรอนสิทธิ์ 

2_43

ผู้กำกับฯบอกด้วยถึงการตีความ "ราตรี" กับสภาพสังคมอีสานว่า สังคมอีสานยังคงเป็นสังคมที่อยู่ภายใต้ฐานของความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่เป็นครอบครัวใหญ่ หากแต่ ราตรี ขาดเสาหลักของครอบครัว ทำให้การใช้ชีวิตของราตรีต้องเผชิญแต่การกลั่นแกล้ง เอารัดเอาเปรียบ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สังคมก็ไม่ได้เลวร้ายจนทำให้ราตรีต้องหมดหนทางในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การตีความในภาพยนตร์เรื่อง ราตรี จึงเป็นสภาพสังคมอีสานที่เล่าผ่านวิถีแห่งทุนนิยม 

1

ขณะที่ประเด็นการพัฒนาบทจากวรรณกรรมสู่ภาพยนตร์นั้น "ปรีชา" อธิบายว่า วรรณกรรมเป็นการใช้โวหารในการเล่าเรื่อง ให้คนอ่านได้จินตนาการเห็นภาพในสิ่งที่ผู้เขียนได้สร้างสรรค์ หากแต่ภาพยนตร์คือ การเล่าเรื่องด้วยภาพ การพัฒนาบทถึงต้องคิดให้เป็นภาพ จึงแตกต่างกับวรรณกรรมพอสมควร ความยากอยู่ตรงที่จะตีความประโยคออกมาเป็นภาพอย่างไร จะต้องมีเหตุการณ์กี่เหตุการณ์ ผู้ชมถึงจะเข้าใจและรับรู้ในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อสาร มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งไม่ง่าย

ในวรรณกรรมราตรีมีเส้นเรื่อง (Story line) ที่ชัดเจน หากแต่ในบทภาพยนตร์ไม่สามารถนำเอาเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์มาใส่เข้าไปได้ เพราะวรรณกรรมกับภาพยนตร์ ถึงจะมีความคล้ายแต่ก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด  ดังนั้น เมื่อเป็นบทภาพยนตร์แล้วเนื้อหาจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานและตรรกะของความเป็นจริงด้วย ซึ่งต่างจากวรรณกรรม

7_6

สำหรับการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งตัวละครหลักที่สำคัญที่ต้องคัดเลือกคือ ปัญหาของการคัดเลือกนักแสดงคือ ตัวละคร “ราตรี” อายุราว 5-6 ขวบ ที่จะต้องพูดภาษาอีสานได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นแล้วยังต้องแสดงบทบาทให้ได้ตามที่ผู้กำกับต้องการ ซึ่งยากมาก เพราะอายุยังน้อยและยังไม่เคยผ่านการแสดงมาก่อน ขณะนี้มีตัวละครราตรีที่คิดว่าตรงตามความต้องการของผู้กำกับ 2 คน ซึ่งหลักจากที่ผ่านการอบรมการแสดงจากครูแล้วคงต้องมาตัดสินใจว่าจะเลือก “ราตรี” ที่ตรงตามความต้องการมากที่สุดว่าคนไหน 

1_26

นักแสดงที่ไม่ต้องคัดเลือกคือ ตัวละคร ยายแจ่ม นำแสดงโดย บุญศรี ยินดี หรือ ป้าแดง ผลงานภาพยนตร์ที่เป็นที่รู้จักคือ บุญติดจรวด (The Rocket) ปี  2557 , 15 ค่ำ เดือน 11 และยังได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 12 ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย  และตัวละคร ลุงชม นำแสดงโดย ดวงมะนี โสลิพัน นักแสดงจาก สปป.ลาว ที่มีผลงานจากการแสดงภาพยนตร์ลาวเรื่อง จันทะลี , น้องฮัก (Dearest Sister) โดย Lao Art media (มองเรื่องการขยายตลาดไป สปป.ลาว)

ทั้งนี้ค่ายหนังใหญ่ อย่าง "สหมงคลฟิล์ม" เป็นผู้ลงทุนในการผลิต และ บาแรมยู โดยพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็น ผู้อำนวยการผลิต(Producer)  โดยมีทีมผลิต (Production Support ) คือ E-San Shortfilm ที่เป็นผู้ผลิตในพื้นที่อีสานอยู่แล้วดำเนินการถ่ายทำ-ตัดต่อ 

2

"เซ็นสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว แผนการดำเนินงานขณะนี้อยู่ในช่วง pre-production  ตั้งแต่ เขียนบทที่จะต้องดัดแปลงมาจากวรรณกรรม การคัดเลือกนักแสดง การหาสถานที่ถ่ายทำ และคาดว่าช่วง ต้นเดือน พฤศจิกายน – ปลายเดือนธันวาคม 2561 จะเริ่มการถ่ายทำในพื้นที่จังหวัด มหาสารคาม เนื่องจากว่าช่วงเดือนดังกล่าวเป็นช่วงที่ข้าวเริ่มเหลืองทองเต็มท้องทุ่งนา ซึ่ง ผู้กำกับพิจารณาแล้วว่าจะเป็นโลเคชั่นที่สวยงามและนำเสนอความเป็นสังคมอีสานได้อย่างชัดเจนมากในช่วงดังกล่าว และคาดว่าภาพยนตร์จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ประมาณ ตุลาคม 2562" 

อย่างไรก็ตาม หากหวังว่าหนังเรื่องนี้จะให้อะไรแก่ผู้ชมคนดูนั้น ผู้กำกับฯเผยว่า ภาพยนตร์เป็นแนวชีวิต (Drama) ซึ่งฉีกจากหนังอีสานเรื่องอื่นๆ ที่เป็น ตลก (Comedy) มองว่าประเด็นที่จะนำเสนอคือ สิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน หากผู้ชมได้ชมน่าจะเข้าถึงประเด็นดังกล่าวได้ไม่ยากนัก