ปัด 2 เขื่อนยักษ์เสี่ยงกระตุ้นเกิดแผ่นดินไหว

ปัด 2 เขื่อนยักษ์เสี่ยงกระตุ้นเกิดแผ่นดินไหว

ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ ชี้แจงเขื่อน กฟผ. ปลอดภัย หลังอาจารย์ดังโพสต์เฟซบุ๊ก 2 เขื่อนยักษ์เสี่ยงกระตุ้นเกิดแผ่นดินไหว เหตุน้ำมาก อีกทั้งตั้งอยู่บนรอยเลื่อนเปลือกโลก

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 ส.ค.61 นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า กรณี อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ สังกัดคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาพาดพิงถึงประเด็น เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลก และการที่ กฟผ.เก็บกักน้ำในเขื่อนดังกล่าวมาก จะกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น

ขอชี้แจง อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ว่าถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีรายงานวิชาการใดยืนยันว่า มีรอยเลื่อนมีพลังอยู่ใต้เขื่อนของ กฟผ. ในขณะที่ข้อมูลในการออกแบบเขื่อนของ กฟผ. มีแหล่งยืนยันได้ว่า เขื่อน กฟผ.ไม่ได้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง นอกจากนี้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ก็มาตรวจสอบเขื่อนดูแล้ว ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยเขื่อน

ในส่วนของการเก็บกักน้ำจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้นั้น โดยปกติแล้วจากข้อมูลของแผ่นดินไหวที่เกิดจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนทั่วโลก จะมีลักษณะเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีขนาดสูงสุดในช่วงเริ่มกักเก็บน้ำใหม่ และจะค่อยๆ ลดจำนวนและขนาดลงจนเหลือน้อยมาก และขนาดเล็กมาก หลังจากเก็บกักน้ำเกิน 10 ปี ในส่วนของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน

กฟผ. มีการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอ ดังผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้ 1.สรุปผลการตรวจสอบเขื่อนของ กฟผ. เป็นประจำทุกวันทุกสัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่ประจำที่เขื่อน ผลการตรวจสอบเขื่อนทั้งหมดยังอยู่ในสภาพที่ดี มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย และจะทำการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องต่อไป

2.สรุปผลการตรวจสอบเขื่อนของ กฟผ. แบบเป็นทางการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน (กปข.) ซึ่งประกอบไปด้วย วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล และธรณีวิทยาจากหน่วยงานต่างๆ ของ กฟผ. ตรวจสอบทุกๆ 2 ปี

กรณีเขื่อนมีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ผลการตรวจสอบเขื่อนทุกเขื่อนยังมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง ซึ่งเป็นเขื่อนแบบอเนกประสงค์ของประเทศ โดยได้รับการตรวจสอบครั้งล่าสุด ดังนี้

เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตรวจสอบเมื่อวันที่ 23 – 26 มกราคม 2560 และเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ตรวจสอบเมื่อวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2561

ประเด็นปริมาณน้ำในอ่างมีมากกว่า 80% การกักเก็บน้ำในอ่างนั้น อนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ซึ่งประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

จะมีการวางแผนเก็บกักและระบายน้ำ ตั้งแต่ต้นปี และจะมีการประชุมพิจารณาปรับปรุงและทบทวนทุกสัปดาห์ ซึ่งการบริหารน้ำนั้น จะอิงเกณฑ์การควบคุมน้ำ (Rule curve) ซึ่งแต่ละเดือนจะไม่เท่ากันตลอด อาจสูงกว่า 80% ก็ได้ ซึ่งต้องดูว่าเป็นฤดูอะไร มีน้ำไหลเข้ามากน้อยอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกภาคส่วน และในกรณีเกิดมรสุมเข้ามีปริมาณน้ำมาก เกินกว่าที่คาดไว้จะบริหารให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด” นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ กล่าว